Abstract:
วิทยานิพนธ์ การแสดงนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ในพิธีอรังกิตรัมในภารตะนาฏยัมเล่มนี้ เป็นการวิจัยในเชิงทดลอง สร้างสรรค์ และสามารถอธิบายออกมาในรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อในพิธีอรังกิตรัม (Arangetram) ของผู้เรียนนาฏยศิลป์อินเดียภารตะนาฏยัม (Bharatanatyam) และนำมาสร้างเป็นงานนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารการแปลบทความหรืองานวิชาการในต่างประเทศ การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญนาฏยศิลป์อินเดียภารตะนาฏยัมในอินเดียและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ประกอบกับผู้วิจัยได้นำความรู้และประสบการณ์จากเมื่อครั้งเดินทางไปศึกษาภารตะนาฏยัม ณ มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู (Banaras Hindu University) เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย การศึกษาจากสื่อสารสนเทศและนวัตกรรมต่างๆทั้งในและต่างประเทศ การลงพื้นที่สังเกตการณ์ และการสัมมนาเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์การแสดง สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัย ตามลำดับ ผลจากการวิจัยทำให้ได้รูปแบบการแสดงที่ประกอบไปด้วย 1) โครงเรื่องและบทการแสดงจะเป็นเรื่องราวของศิษยาที่มีความเชื่อความศรัทธาต่อกูรูและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ 2) ดนตรีที่นำมาใช้ มีทั้งที่เป็นแบบแผนตามขนบของการแสดงภารตะนาฏยัมและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดความร่วมสมัย เสียงสวดมนต์ของนักแสดง และการบรรเลงของนักดนตรีเพื่อสร้างบรรยายและดำเนินเรื่องราว 3) นักแสดงมีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ที่หลากหลาย 4) ลีลาและสัญลักษณ์มีการใช้ขนบแบบแผนและท่าสัญลักษณ์ของภารตะนาฏยัมมาผสมผสานนาฏยศิลป์ไทยและนาฏยศิลป์สากลตามทฤษฎีหลังสมัยใหม่ 5) อุปกรณ์ใช้แนวคิดมินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่มีความเรียบง่าย 6) เครื่องแต่งกายใช้แบบอนุรักษณ์และสร้างสรรค์อย่างเรียบง่าย 7) พื้นที่เวทีใช้ลักษณะเปิดเป็นโถงกว้าง 8) แสงและเทคนิคพิเศษใช้ในการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของนักแสดงตามเรื่องราว และงานวิจัยเล่มนี้ยังได้ค้นพบแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์หลังการปฏิบัติการ ดังนี้ 1) แนวคิดในเรื่องความเชื่อในพิธีอรังกิตรัมของภารตะนาฏยัม 2) แนวคิดในเรื่องประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติในพิธีอรังกิตรัมของภารตะนาฏยัม 3) แนวคิดในการใช้ลีลาท่ารำ ภาวะ และรส ในภารตะนาฏยัม 4) แนวคิดในการใช้สัญลักษณ์ในการแสดงนาฏยศิลป์ 5) แนวคิดในการใช้อุปกรณ์เพื่อประกอบการแสดง 6) แนวคิดในการใช้ทฤษฎีทางด้านนาฏยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และทัศนศิลป์ 7) แนวคิดในการใช้นาฏยศิลป์เพื่อสะท้อนสภาพสังคม และ8) แนวคิดในการใช้การแสดงที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำเรื่องราวในทำนองเดียวกันกับหัวข้อวิทยานิพนธ์มาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ และเป็นแนวทางแด่ผู้ที่สนใจเพื่อนำไปศึกษาในการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานในโอกาสต่อไป