Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือ 1) เพื่อศึกษาความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือรวมถึง 2) เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อความเป็นปึกแผ่นของประชากรต่างรุ่นในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ และ 3)เพื่อศึกษารูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในครอบครัวในอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ โดยอาศัยการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณนั้นเริ่มจากการวิจัยเอกสาร นำไปสู่การวิจัยเชิงสำรวจ และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 – มิถุนายน 2559 โดยได้กลุ่มตัวอย่างจากการเก็บแบบสอบถามที่เป็นวัยแรงงาน ในครัวเรือนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง ล่าหู่ และ อาข่า ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน ทั้งสิ้นจำนวน 1,285 คนที่เป็นตัวแทนครัวเรือน และกลุ่มตัวอย่างจากการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 50 คนที่มีสถานภาพโสดที่อยู่ในวัยแรงงานช่วงอายุ18-25 ปี ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์หลายตัวแปร (Multivariate Analysis) ผสมผสานกับข้อค้นพบที่ได้จากการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญดังนี้ 1) ระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ จากมิติของความเป็นปึกแผ่นใน 4 มิติ คือ ความเป็นปึกแผ่นเชิงหน้าที่ ความเป็นปึกแผ่นเชิงความรู้สึก มิติความเป็นปึกแผ่นเชิงบรรทัดฐาน และความเป็นปึกแผ่นเชิงปฏิสัมพันธ์ร่วม พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ่าประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวมมีระดับความเป็นปึกแผ่นมาก โดยกลุ่มชาติพันธุ์ม้งมีระดับสูงที่สุด รองลงมาคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ล่าหู่ และอาข่า 2) เมื่อใช้วิธีการวิเคราะห์ด้วยวิธีการถดถอยพหุคูณโลจิสติกเพื่อหาปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ พบว่าปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ จำนวนบุตรในครอบครัว จำนวนสมาชิกในครอบครัว และลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อปี และสถานภาพการทำงาน มีผลต่อระดับความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ 3) แนวโน้มโครงสร้างครอบครัวในด้านจำนวนบุตรของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือจากอดีตสู่อนาคต พบว่ามีแนวโน้มที่ลดลง 4) เมื่อใช้วิธีสมการถดถอยปัวซอง (Poisson Regression Analysis) เพื่อหาปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนบุตรในปัจจุบันและความต้องการจำนวนบุตรที่จะมีในอนาคตในครอบครัว พบว่า ปัจจัยทางด้านความเป็นชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัยทางด้านทุนทางสังคม ในส่วนของ ลักษณะรูปแบบโครงสร้างครอบครัว ปัจจัยทางด้านมิติความสัมพันธ์ระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัว ปัจจัยทางด้านทุนมนุษย์ในส่วนของระดับการศึกษา มีผลต่อจำนวนบุตรในปัจจุบันและความต้องการจำนวนบุตรที่จะมีในอนาคตในครอบครัวของกลุ่มาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือโดยรวม และในแต่ละกลุ่มชาตพันธุ์ จากนั้นผู้วิจัยจึงได้ศึกษาเชิงคุณภาพถึงสาเหตุของการมีบุตรที่ลดลงจากเดิม อันเนื่องจากแนวคิดที่ว่าหากมีบุตรจำนวนมากจะเป็นภาระในการเลี้ยงดู แต่หากอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายรุ่นเป็นครอบครัวขยายก็จะมีความคิดที่จะมีความต้องการบุตรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถแบ่งเบาในการเลี้ยงดูดูแลบุตร 5) ภาพอนาคตรูปแบบโครงสร้างและความสัมพันธ์ในครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือ โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่าภาพอนาคตของครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือสอดคล้องกันทุกกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ ปัจจัยด้านทุนทางสังคมที่ให้ความสำคัญกับการสมรสการสร้างครอบครัวซึ่งยังคงยึดถือปฏิบัติเป็นจารีตประเพณีที่สำคัญ รวมทั้งความต้องการในการอยู่ร่วมกันหลายรุ่นในครอบครัว ในส่วนปัจจัยความสัมพันธ์และความเป็นปึกแผ่นระหว่างประชากรต่างรุ่นในครอบครัวในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ลดลง แต่ยังคงมีความเชื่อเรื่องกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาที่ยังเหนียวแน่นจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนในด้านของปัจจัยทุนมนุษย์ในอนาคตจะมีการย้ายถิ่นมากขึ้นเนื่องจากมีความต้องการในการทำงานที่มีความมั่นคงทางรายได้ รวมไปถึงการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงความต้องการทางด้านทุนทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนในอนาคตโดยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในเขตภาคเหนือมีความต้องการให้ภาครัฐขยายปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเข้ามาสู่ชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนได้พัฒนาเศรษฐกิจในชุนและสร้างความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นของครอบครัวในอนาคตต่อไป