Abstract:
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างพ.ศ. 2521-2532 ภายใต้กรอบของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกระบวนการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงโดยมีเป้าหมายในการสร้าง “ทัศนคติที่ถูกต้องในความเป็นคนไทย” และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องที่โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิม การพัฒนาดังกล่าวก่อให้เกิดการขยายตัวในการใช้ภาษาไทยและการผ่านระบบการศึกษาแบบทางการในกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ การขยายตัวของระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร และการขยายตัวของหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายในการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น ทั้งยังเกิดการเชื่อมพื้นที่ตอนในของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าด้วยกันผ่านการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ในขณะเดียวกันกระบวนการพัฒนาของรัฐได้รับการต่อต้านโดยกลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐ คือกลุ่ม “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ “ขจก.” โดยเคลื่อนไหวตอบโต้การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านการคุกคามครูและโรงเรียนของรัฐ การโจมตีกลุ่มทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาของรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพัฒนาของรัฐ และเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงบนเส้นทางคมนาคมที่รัฐสร้างขึ้น กระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างกว้างขวาง แต่ในทางตรงข้ามการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นแรงกระตุ้นที่นำไปสู่การต่อต้านรัฐไทยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย