Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งทดสอบสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์ ซึ่งมีใจความหลักว่า ภาษาที่แตกต่างกันทำให้ความคิดของผู้ใช้ภาษาแตกต่างกันด้วย มีงานวิจัยจำนวนมากทดสอบสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์กับภาษาที่มีประเภททางไวยากรณ์แตกต่างกัน แต่งานวิจัยที่เน้นความแตกต่างทางความหมายของกลุ่มคำกริยาในภาษาที่ต่างกันยังพบน้อยมาก งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบระบบความหมายของกลุ่มคำกริยา “ตัด” ในภาษาอังกฤษกับภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือและทดสอบพฤติกรรมทางปริชานของผู้พูดทั้งสองภาษา เพื่อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับปริชานของผู้พูด ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลภาษาและพบว่าระบบความหมายของกลุ่มคำกริยา “ตัด” ในภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือจำแนกกลุ่มคำกริยา “ตัด” ตามเครื่องมือที่ใช้ตัดและการลงน้ำหนักขณะตัด ส่วนระบบความหมายของกลุ่มคำกริยา “ตัด” ในภาษาอังกฤษไม่ได้จำแนกในลักษณะนี้ ผู้วิจัยตั้งสมมติฐานว่า ผู้พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือมีพฤติกรรมความใส่ใจและการจำแนกประเภทตามการลงน้ำหนักและเครื่องมือมากกว่าผู้ถูกทดลองที่พูดภาษาอังกฤษ ผู้วิจัยทดสอบพฤติกรรมทางปริชานด้านการจำแนกประเภทและความใส่ใจตามเกณฑ์เครื่องมือที่ใช้ตัดและการลงน้ำหนักขณะตัด โดยทดสอบกับกลุ่มผู้พูดภาษาอังกฤษ 30 คนและกลุ่มผู้พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือ 30 คน ผลการทดสอบส่วนใหญ่สอดคล้องกับสมมติฐาน คือผู้ถูกทดลองที่พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือจำแนกประเภทตามเกณฑ์เครื่องมือที่ใช้ตัดและการลงน้ำหนักมากกว่าผู้ถูกทดลองที่พูดภาษาอังกฤษอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนความใส่ใจพบว่า ผู้ถูกทดลองที่พูดภาษากะเหรี่ยงสะกอเหนือใส่ใจตามเกณฑ์การลงน้ำหนักมากกว่าผู้ถูกทดลองที่พูดภาษาอังกฤษอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสำหรับการทดสอบความใส่ใจตามเกณฑ์เครื่องมือที่ใช้ตัด อย่างไรก็ตาม อาจสรุปได้ว่า ภาษาที่มีระบบไวยากรณ์ต่างกันส่งผลให้ระบบปริชานของผู้ใช้ภาษาต่างกันซึ่งสนับสนุนสมมติฐานภาษาสัมพัทธ์