Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเนื้อหา และกลวิธีการประพันธ์นิราศ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักชาติที่แต่งขึ้นระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจำนวน 8 เรื่อง ได้แก่ นิราศเป็นทหาร นิราศเลิกไพ่ นิราศมหาวารีปีมะเส็ง นิราศมะเหลเถไถ นิราศถ้ำจอมพล นิราศสุโขทัย นิราศธัญญะบุรี และนิราศน้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ.2485 ผลการวิจัยพบว่า นิราศกลุ่มที่เลือกมาศึกษามีเนื้อหาเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชาติบ้านเมืองขณะนั้น และมีลักษณะที่กระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาติ เช่น ปัญหาการขาดความสามัคคีของคนในชาติ ปัญหาจากอุทกภัยเมื่อ พ.ศ.2460 และ พ.ศ.2485 ปัญหาการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของต่างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า นิราศกลุ่มที่เลือกมาศึกษามุ่งเสนอให้คนในชาติมีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน มีความร่วมมือร่วมใจกันเสียสละแรงกายและทรัพย์สินเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของ ผู้ประสบอุทกภัย พ.ศ.2460 และ พ.ศ.2485 ตลอดจนปัญหาการขาดทหารอาสาเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้ ความคิดเห็นทางการเมืองการปกครองที่แตกต่างกันในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้คนในชาติเกิดความขัดแย้งกัน นิราศกลุ่มนี้จึงเสนอให้คนในชาติเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และร่วมใจกันประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ผลกระทบจากปัญหาการแทรกแซงทางเศรษฐกิจของต่างชาติ และความหลงตามค่านิยมตะวันตก ทำให้ผู้แต่งเสนอให้คนในชาติเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปกรรมที่มีอยู่ภายในชาติ เพื่อนำมาใช้หรือทำนุบำรุงให้เกิดประโยชน์ต่อไป ผู้แต่งมีกลวิธีการประพันธ์ที่ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชาติและโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านคิดแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชาติบ้านเมือง โดยการปรับใช้ลักษณะเด่นของขนบนิราศ เช่น การปรับใช้ขนบการครวญถึงนางเพื่อแสดงความทุกข์โศกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น การเชื่อมโยงเรื่องความรักส่วนตัวกับความรักชาติ การเชื่อมโยงสิ่งที่พบเห็นเข้ากับประสบการณ์ของผู้แต่งเพื่อถ่ายทอดปัญหาและผลกระทบจากปัญหา การเล่าตำนานเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่ที่เดินทางผ่านเพื่อให้คนในชาติตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความภาคภูมิใจในชาติและมรดกวัฒนธรรมของชาติ ผลการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นพัฒนาการของนิราศรักชาติว่าเป็นผลงานที่ผู้แต่งมุ่งสื่อความให้ผู้อ่านร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อชาติ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่า นิราศมิใช่เพียงวรรณกรรมที่แต่งเพื่อถ่ายทอดกระบวนอารมณ์ของผู้แต่งและให้สุนทรียรสแก่ผู้อ่านเท่านั้น แต่นิราศยังเป็นวรรณกรรมที่สื่อความหมายเพื่อสังคมส่วนรวม ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของวรรณกรรมและการปรับใช้ขนบวรรณกรรมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมได้อย่างชัดเจน