Abstract:
การสูญเสียอิทธิพลของพม่าในล้านนาช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 นำไปสู่สภาวะสุญญากาศในพื้นที่ต่างๆของล้านนา ซึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าผู้ปกครองท้องถิ่นตามเมืองขนาดใหญ่ต่างๆสามารถสั่งสมอำนาจของตนและสถาปนาความเป็นรัฐขึ้นปกครองตนเองขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวได้ น่านในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของคนในตระกูลหลวงติ๋น ซึ่งประสบความสำเร็จในการสถาปนาความเป็นรัฐของตนให้เป็นเอกเทศจากหน่วยการเมืองอื่นๆในล้านนาได้สำเร็จในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 อย่างไรก็ตาม รัฐน่านในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในสภาพเสียหายจากสงครามในช่วงเวลาก่อนหน้า และตกอยู่ในความไม่มั่นคงของการเมืองระหว่างภูมิภาค ทำให้เจ้าผู้ปกครองน่านตระกูลหลวงติ๋นในช่วงเวลาดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินนโยบายต่างๆเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสถานะความเป็นเจ้าผู้ปกครองของตนและสถานะความเป็นรัฐของน่าน วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษา สาเหตุ กระบวนการ และผลของการฟื้นฟูความเป็นรัฐแบบจารีตของน่านในช่วงเวลา ระหว่าง พ.ศ. 2329-2442 โดยเน้นสำรวจแนวคิดและวิธีปฏิบัติของผู้ปกครองในราชวงศ์หลวงติ๋นที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูสถานะความเป็นรัฐ ซึ่งพบว่า เจ้าผู้ปกครองในราชวงศ์หลวงติ๋นใช้นโยบายในสร้างความยอมรับจากภายนอก ใช้นโยบายกระจายอำนาจบริหารและสร้างภาพความเป็นศูนย์กลางในการสร้างความยอมรับจากภายใน และใช้นโยบายอิงอำนาจกับสยามเพื่อให้ได้รับการค้ำประกันทางอำนาจ นโยบายดังกล่าวเหล่านี้ทำให้เจ้าผู้ปกครองน่านราชวงศ์หลวงติ๋นประสบความสำเร็จในการประคับประคองสถานะความเป็นรัฐของตนไปได้จนกระทั่งถึงช่วงสุดท้ายของรัฐจารีต เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองโดยสยาม ใน พ.ศ. 2442