Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเด็นเรื่องเรือนร่างที่ปรากฏในอาชญนิยายร่วมสมัยแนวฆาตกรต่อเนื่องของประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 2000 ถึงปัจจุบัน อาชญนิยายของอเมริกาที่คัดสรรมาศึกษาได้แก่เรื่องเดอะ เดธ คอลเลคเตอร์ส์ (The Death Collectors, 2006) ของแจ็ค เคอร์เลย์ (Jack Kerley) มือเพชฌฆาต (The Executioner, 2010) ของคริส คาร์เตอร์ (Chris Carter) และซีรีส์เรื่องฮันนิบาล ปี 1 (Hannibal Season 1, 2013) ของไบรอัน ฟุลเลอร์ (Bryan Fuller) ส่วนอาชญนิยายของญี่ปุ่นได้แก่เรื่องโกธ คดีตัดข้อมือ (2005) ของโอสึอิจิ ราตรีสีเลือด (2008) ของฮนดะ เท็ตสึยะ เลสซัน ออฟ ดิ อีวิล (Lesson of the Evil, 2012) ของมิอิเคะ ทาคาชิ และมิวเซียมเล่ม 1-3 (Museum: The serial killer is laughing in the rain, 2014) ของเรียวสุเกะ โทโมเอะ จากการศึกษาพบว่าตัวบทคัดสรรทั้ง 7 เรื่องได้บรรยายถึงเรือนร่างของตัวละครฆาตกร นักสืบและเหยื่ออย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรยายถึงเรือนร่างของเหยื่อนั้นเผยให้เห็นร่างกายที่ถูกกระทำความรุนแรงอย่างน่าสะพรึงกลัวและน่าขยะแขยง ซึ่งแตกต่างจากอาชญนิยายในอดีตที่มักไม่นำเสนอเรือนร่างในลักษณะดังกล่าว การนำเสนอเรือนร่างที่น่ากลัวและน่าขยะแขยงในตัวบทคัดสรรนี้สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างลักษณะของอาชญนิยายกับลักษณะของวรรณกรรมแนวโกธิค ซึ่งชี้ให้เห็นประเด็นเกี่ยวกับเรือนร่าง 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่ประเด็นเรื่องสังคมเมือง ศาสนา และการบริโภค การศึกษาเรือนร่างใน 3 ประเด็นดังกล่าวนี้เผยให้เห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างตัวบทของอเมริกาและญี่ปุ่น กล่าวคือตัวบทของทั้งสองประเทศนำเสนอประเด็นเรื่อง “การล่วงล้ำ” (Transgression) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการทลายเส้นแบ่งและกรอบเกณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นแนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงในอาชญนิยาย และเปิดเผยให้เห็น “ความไร้ระเบียบ” (Chaos) อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของวรรณกรรมแนวโกธิค โดยการล่วงล้ำดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกันได้แก่ การล่วงล้ำระหว่างเพศชายกับหญิง การล่วงล้ำระหว่างภายนอกกับภายในเรือนร่าง และการล่วงล้ำกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมุมมองเกี่ยวกับเรือนร่างในสังคมอเมริกาและญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต