Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการใช้ภาพถ่ายในการให้ความหมายและการสร้างภาพแทนชีวิตของวัยรุ่นชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร ทศวรรษ 2500 ถึงต้นทศวรรษ 2530 ผ่านชีวิตของวัยรุ่นระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีที่อยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยใช้หนังสืออนุสรณ์กว่า 200 เล่มเป็นเอกสารชั้นต้น ร่วมกับเอกสารประเภทอื่นๆ อาทิ ตำรา โฆษณา ปกอัลบั้มเพลง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับสถาบันการศึกษา และวัยรุ่นกับสังคมภายนอกสถาบันการศึกษา ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้ภาพถ่ายของวัยรุ่นในประเด็นศึกษา 4 ประเด็น ได้แก่ ความหมายของความเป็นวัยรุ่น ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นนักอุดมคติ และความเป็นเพื่อน คำถามการวิจัยของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือ การเลือกใช้ภาพถ่ายแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับวัยรุ่น และวัยรุ่นกับสังคมอย่างไร ภาพถ่ายแสดงให้เห็นกระบวนการให้ความหมายและการสร้างภาพแทนชีวิตวัยรุ่นอย่างไร ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการเลือกใช้ภาพถ่ายของวัยรุ่นที่นำไปสู่กระบวนการให้ความหมายและการสร้างภาพแทนชีวิตวัยรุ่น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า การเลือกใช้ภาพถ่ายของวัยรุ่นชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นบทบาทและความสำคัญของภาพถ่ายในฐานะภาพแทนความหมายของชีวิตวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นกับวัยรุ่น และวัยรุ่นกับสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมืองและสังคม วัยรุ่นในกรุงเทพฯ ใช้ภาพถ่ายในหลายลักษณะ ได้แก่ การบันทึกความทรงจำ การสร้างความหมายของความเป็นเพื่อน การปลอบประโลมและเยียวยาบาดแผลทางจิตใจจากผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมือง การชี้ให้เห็นอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองและการต่อรองเชิงอำนาจ และการสร้างภาพเชิงอุดมคติและเสียดสีสังคม ปัจจัยสำคัญที่กำหนดแนวทางในการใช้ภาพถ่ายของวัยรุ่น ได้แก่ ความคาดหวังและค่านิยมทางสังคมของวัยรุ่น ความต้องการส่วนบุคคลในการนำเสนอตัวตนของวัยรุ่น และพัฒนาการของเทคโนโลยีการถ่ายภาพและกลยุทธ์ทางการตลาดของผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพ