Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานโยบายการพัฒนาเมืองในภูมิภาคของไทย โดยพิจารณาบทบาทหน้าที่ขององค์กรภาครัฐในการพัฒนาเมืองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยมีคำถามวิจัยคือ นโยบายการพัฒนาเมืองของไทยในช่วงหลังปี 2540 มีสาระสำคัญอะไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมืองในภูมิภาคอย่างไร อีกทั้งยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเมืองหรือไม่ โดยอาศัยกรอบแนวคิด 2 แนวคิดคือ ทฤษฎีทำเลที่ตั้ง (Location theory) และแนวคิดเมืองที่เกิดและเติบโตจากนโยบายรัฐ (รัฐเป็นผู้สร้างเมือง) การศึกษาครั้งนี้ได้อาศัยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านกรณีศึกษาเมืองในภูมิภาคจำนวน 2 แห่งคือ เมืองสงขลาและเมืองสตูล ผลการศึกษาพบว่า นโยบายการพัฒนาเมืองของรัฐได้ส่งผลให้เมืองสงขลาและเมืองสตูลมีผลของการพัฒนาที่แตกต่างกัน นโยบายการพัฒนาส่วนใหญ่มุ่งที่จะพัฒนาเมืองสงขลามากกว่าเมืองสตูล เนื่องจากรัฐต้องการสร้างเมืองสงขลาให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและศูนย์กลางการบริหารราชการ รวมไปถึงเป็นเมืองที่เชื่อมโยงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จึงทำให้มีนโยบายการพัฒนาของรัฐลงมาสู่พื้นที่สงขลาอย่างต่อเนื่องและชัดเจน ขณะที่เมืองสตูลนั้นกลับพบว่า รัฐไม่ได้มีนโยบายพัฒนาเมืองที่มีความต่อเนื่องมากนัก นโยบายการพัฒนาเมืองสตูลจึงไม่มีความโดดเด่นและชัดเจนเท่าเมืองสงขลา เป็นเพียงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยทั่วไป ผลจากนโยบายการพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมาจึงส่งผลให้เมืองสตูลไม่ได้เติบโตเทียบเท่าเมืองสงขลา อีกทั้งยังส่งผลให้การพัฒนาเมืองสตูลด้อยกว่าเมืองสงขลา