Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางนโยบายในการตัดสินใจพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อแสดงให้เห็นและอธิบายถึงความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของนโยบายที่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 รัฐบาล การวิจัยประการแรกคือนโยบายที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 รัฐบาลไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ซึ่งความคล้ายคลึงกันของนโยบายของทั้ง 2 รัฐบาล เป็นมาจากการที่ทั้ง 2 รัฐบาลเลือกใช้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมื่อนโยบายดำเนินไปสู่ขั้นการนำไปปฏิบัติผู้เข้ารวมประกวดราคาส่วนใหญ่ล้วนเป็นบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลประยุทธ์มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงให้บริษัทธุรกิจกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีขนาดเล็กกว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาให้มากขึ้นจากการวิจัยพบว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลกับการที่บริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่เป็นผู้ดำเนินการสร้างในโครงการรถไฟทางคู่ฯ สะท้อนให้เห็นถึงการมีสถานะพิเศษของบริษัทธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่จึงส่งผลให้นโยบายในเรื่องดังกล่าวของทั้ง 2 รัฐบาลมีความคล้ายคลึงกัน การวิจัยประการที่สองคือความต่อเนื่องของระบบราชการในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางนโยบาย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงของฝ่ายบริหารนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หากแต่ตำแหน่งและบทบาทของฝ่ายข้าราชการยังคงเหมือนเดิม ส่งผลให้ฝ่ายข้าราชการสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายในช่วงของทั้ง 2 รัฐบาลไปในทิศทางที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่านโยบายการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นระหว่างช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐบาลประยุทธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น