Abstract:
การแพร่ขยายตัวของเครือข่ายธุรกิจอาหารจานด่วนอเมริกันไปยังนานาประเทศ ถือเป็นกระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่มีประสิทธิภาพ และส่วนมากมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมกับหลายประเทศทั่วโลก ผู้วิจัยได้เลือกกรณีศึกษาประเทศบรูไนดารุสซาลามเนื่องจากเห็นว่า เป็นประเทศที่มีภาพลักษณ์เข้าถึงยาก สังคมค่อนข้างปิด เป็นรัฐอิสลามที่เคร่งครัดด้วยกฏทางศาสนา และยังมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ผู้วิจัยจึงได้เข้าไปทำการวิจัยตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวข้างต้นในประเทศบรูไน โดยใช้วิธีวิจัยแบบลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแบบวิจัยจากการสังเกต การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง และการตอบแบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า 1.) แมคโดนัลดาภิวัตน์ในบรูไน ไม่ใช่เป็นกระบวนการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมแต่ถือเป็นพหุวัฒนธรรมในบรูไน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนมากชื่นชอบอาหารจานด่วนอเมริกันและมองว่าเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการบริโภค ทางฝั่งผู้ผลิตก็พยายามปรับนโยบายทางการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ทำให้วัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกันสามารถผสมผสานและดำเนินร่วมกันได้ดีกับวัฒนธรรมท้องถิ่น 2.) กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นในบรูไนค่อนข้างตรงข้ามทฤษฎีเดิม จากการสังเกตการณ์กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคร้านแมคโดนัลด์ในกรุงบันดาเสรีเบกาวัน พบว่าคนค่อนข้างใช้ชีวิตแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร ใช้ร้านอาหารจานด่วนเหมือนร้านอาหารทั่วไป มีเมนูเฉพาะท้องถิ่นที่หารับประทานไม่ได้ในประเทศอื่น 3.) แบรนด์อาหารจานด่วนท้องถิ่นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับความนิยมมากกว่าแบรนด์อาหารจานด่วนต้นตำรับอเมริกัน ตัดสินได้โดยความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างที่ยืนยันว่า ร้านอาหารจานด่วนท้องถิ่นสามารถใช้กระบวนการแมคโดนัลดาภิวัตน์และท้องถิ่นภิวัตน์ได้ดีเหมาะสมกับชาวท้องถิ่นมากกว่าร้านอาหารจานด่วนอเมริกัน จนพวกเขาพึงพอใจในรสชาติ ราคา ปริมาณ และการเข้าถึงสถานที่ และ 4.) ด้วยเหตุผลดังกล่าว กลุ่มตัวอย่าง ไม่ได้มีอคติหรือต่อต้านกับวัฒนธรรมสมัยนิยมอเมริกัน และไม่ได้รู้สึกว่าการบริโภคอาหารจานด่วนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม