Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และประเมินความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ และข้อจำกัดของการดำเนินนโยบาย โดยเลือกกรณีศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 2 จังหวัด ได้แก่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด จากการศึกษานี้พบว่า นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยมีภาครัฐส่วนกลางเป็นผู้ริเริ่มนโยบาย และดำเนินนโยบายโดยใช้เงินงบประมาณและกลไกของรัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นหลัก จากกรณีศึกษาทั้ง 2 แห่ง พบว่า การดำเนินนโยบายจากภาครัฐส่วนกลางในแต่ละพื้นที่มีประเด็นส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันคือ การเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพอย่างเร่งด่วน แต่มีรายละเอียดในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ได้แก่ การกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การจัดทำผังเมือง การให้เช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้น ปัจจัยบริบทในพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจทั้ง 2 แห่งมีลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ ลักษณะพื้นที่เชิงกายภาพ การมีส่วนร่วมของหน่วยงานในระดับพื้นที่ และหน่วยงานที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ ด้วยกลวิธีการดำเนินนโยบายของรัฐในพื้นที่ประกอบกับบริบทของพื้นที่ที่แตกต่างกันนี้ส่งผลให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราดมีความก้าวหน้าในด้านการลงทุนและการพัฒนาพื้นที่มากกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เนื่องจากการวางสถานะเมืองตราดมีความชัดเจน บริบทเชิงกายภาพของพื้นที่มีขอบเขตชัดเจน และการมีส่วนร่วมของทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดตราด แต่อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของไทยโดยรวมยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการขับเคลื่อนหลักมาจากภาครัฐส่วนกลางที่ไม่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ หน่วยงานในพื้นที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้เอง และมุ่งเน้นแต่การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพเป็นหลัก ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์เพราะยังขาดการพัฒนาด้านสังคม ทั้งนี้เนื่องมาจากขาดการวางแผนจากรัฐบาลระดับชาติที่ชัดเจน จึงทำให้เกิดหน่วยงานต่างทำภารกิจของตนเอง (Fragmented Management) และขาดหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่อย่างชัดเจนในระยะยาว