Abstract:
งานวิจัยทางทฤษฎีและการวิจัยเชิงประจักษ์ว่าด้วยผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศพบว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศปรับตัวลดลงหากผู้ส่งออกมีลักษณะกลัวความเสี่ยงน้อย (Less Risk Averse) มิฉะนั้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหากผู้ส่งออกมีลักษณะกลัวความเสี่ยงมาก (Highly Risk Averse) แต่มีบางงานศึกษาไม่พบผลกระทบที่มีนัยสำคัญ ฉะนั้นงานศึกษานี้มีจึงวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อปริมาณการส่งออกของไทยโดยเลือกการส่งออกไปยัง4ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป การศึกษาใช้วิธี ARDL Bound Testing ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถหาผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวรวมทั้งการปรับตัวจากระยะสั้นสู่ระยะยาวได้ในสมการเดียวกัน ข้อมูลที่ใช้มีลักษณะเป็นรายเดือนตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 ถึง 2016 การศึกษาพบว่าในระยะสั้นความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้การส่งออกลดลง ในระยะยาวอุตสาหกรรมส่วนใหญ่สามารถปรับตัวต่อการผันผวน ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ สำหรับในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว ส่วนใหญ่ทำให้การส่งออกลดลง อ้างอิงได้ว่าผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีลักษณะกลัวความเสี่ยงน้อย (Less Risk Averse) จากการที่การส่งออกในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) ของไทยจึงยังคงเป็นระบบที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในระยะสั้นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นภาครัฐควรจะมีมาตรการในการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ส่งออกมีการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก