Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างกับวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยใช้วิธีการประมาณกลุ่มคนที่มีค่าจ้างสูงตามแบบพาเรโต้ ใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจำนวน 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ถึง พ.ศ. 2558 ผลการศึกษาพบว่า แรงงานนอกระบบมีการกระจายตัวของค่าจ้างในลักษณะเบ้ขวาเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ แต่มีความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานในระบบ กรุงเทพมหานครมีค่าเฉลี่ยของค่าจ้างสูงที่สุดในทุกภาค กลุ่มคนที่รวยที่สุดร้อยละ 1 ทั้งในและนอกระบบมีสัดส่วนค่าจ้างคิดเป็นประมาณร้อยละ 7 ของค่าจ้างทั้งหมด ทั้งนี้ จากการพิจารณาผลกระทบกับความวัฏจักรเศรษฐกิจด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด โดยมี อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และหนี้สาธารณะ เป็นตัวแปรควบคุม พบว่า ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานนอกระบบกลุ่มที่รวยที่สุดร้อยละ 3 มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับขนาดของความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องมาจากความผันผวนของระดับค่าจ้างแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างในระบบไม่มีความสัมพันธ์กับขนาดความผันผวนของวัฏจักรเศรษฐกิจ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องมาจากค่าจ้างในระบบมีลักษณะที่ไม่เปลี่ยนแปลง (Sticky wage) จึงไม่กระทบต่อขนาดของความผันผวนเศรษฐกิจ