Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการลดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะด้วยทฤษฎีการยืนยันตนเอง โดยใช้วิธีที่หลากหลายในการวัดสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ ได้แก่ การรายงานตนเอง ความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ และการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง และยังศึกษาอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะและการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยมีกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ชั้นปี 1-4 ช่วงอายุ 18-23 ปี จำนวน 90 คน ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุม และกลุ่มยืนยันตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป เครื่องมือวัดคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ สภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ การเห็นคุณค่าในตนเอง ศักดิ์ศรีในตนเอง เครื่องมือวัดความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจและการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง ผลการวิเคราะห์เส้นทาง (path analysis) ด้วยโปรแกรม LISREL พบว่าโมเดลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองและคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะเป็นตัวแปรกำกับระหว่างการยืนยันตนเองและสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี (x2 = 6.71, p = 0.67, df = 9, x2/df = 0.75, GFI = 0.99, AGFI = 0.89, CFI = 1.00, RMSEA = 0.00, RMR = 0.50) การยืนยันตนเองมีอิทธิพลทางลบต่อการนำไฟฟ้าที่ผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญ (B = -0.21, p < .01) และพบว่าการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นตัวแปรกำกับผลของการยืนยันตนเองต่อสภาวะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะที่วัดด้วยความแปรปรวนอัตราการเต้นหัวใจ โดยอิทธิพลดังกล่าวจะสูงในคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ แต่ไม่พบอิทธิพลกำกับของคุณลักษณะความวิตกกังวลการพูดในที่สาธารณะ