Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของสัทสัมผัส หลักการการเรียงพลังประจำเสียง และลักษณะทางสัทสาสตร์ของภาษาแม่ ต่อการรับรู้เสียงควบกล้ำในผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่จำนวน 64 คน และผู้พูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่จำนวน 15 คน รายการคำในการทดลองเป็นคำเสมือนของภาษารัสเซียในโครงสร้างพยางค์ CCVC และ CVCVC และผู้วิจัยใช้แบบทดสอบการจำแนกเสียงแบบ AX ในการทดลอง ผู้วิจัยคาดว่าเมื่อผู้ร่วมการทดลองได้ยินเสียงควบกล้ำต่างๆ ในการทดลองที่ผิดสัทสัมผัสของภาษาแม่ ผู้ร่วมการทดลองจะได้ยินเสียงสระแทรกเสียงพยัญชนะควบกล้ำ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะเสียงควบกล้ำและเสียงสระแทรกออกจากกันได้ จากผลการทดลอง ผู้วิจัยพบว่าสัทสัมผัสของภาษาแม่มีอิทธิพลต่อการรับรู้เสียงควบกล้ำ โดยผู้ร่วมการทดลองสามารถรับรู้เสียงควบกล้ำที่ถูกสัทสัมผัสได้อย่างแม่นยำกว่าเสียงควบกล้ำที่ผิดสัทสัมผัสอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในการทดลองที่สอง ผู้วิจัยพบว่าหลักการการเรียงพลังประจำเสียงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้การรับรู้เสียงควบกล้ำในผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่แม่นยำ กล่าวคือ ผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่สามารถรับรู้เสียงควบกล้ำที่เรียงพลังประจำเสียงแบบขึ้นได้ไม่แตกต่างจากระดับและแบบตกอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบจากผลการทดลองที่สามว่าลักษณะทางสัทศาสตร์ของภาษาแม่ในคู่คำทดสอบดัดแปลงทำให้ผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่รับรู้เสียงควบกล้ำที่ผิดสัทสัมผัสด้วยความแม่นยำที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้วิจัยเปลี่ยนไปใช้เสียงทดสอบที่ผลิตอย่างธรรมชาติโดยผู้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ในการทดลองที่สี่ ผู้วิจัยพบว่าผู้ร่วมการทดลองที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่สามารถรับรู้เสียงในคู่คำทดสอบได้อย่างแม่นยำขึ้นกว่าเมื่อได้ยินเสียงในคู่คำทดสอบที่ผลิตโดยผู้พูดภาษารัสเซียเป็นภาษาแม่