Abstract:
นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนตามขนบมักนำเสนออาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคมควบคู่ไปกับการนำเสนอภาพลักษณ์ของตัวละครนักสืบชายผู้ชาญฉลาดและตัวละครอาชญากรชายผู้ร้ายกาจ ในขณะที่ตัวละครหญิงมักได้รับบทบาทเหยื่อผู้อ่อนแอซึ่งเป็นเสมือนการขับเน้นให้เห็นถึงอำนาจของตัวละครชายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องความแตกต่างทางเพศที่นำไปสู่การกดทับผู้หญิงไว้ภายใต้อำนาจของผู้ชายนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปและถูกนำเสนอให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านนวนิยายสืบสวนสอบสวนร่วมสมัย จากการศึกษานวนิยายสืบสวนสอบสวนร่วมสมัยของอเมริกาเรื่อง เดอะ เซอร์เจียน (The Surgeon, 2001) ของเทสส์ เกอร์ริตเซ่น (Tess Gerritsen) อโลน (Alone, 2005) และ ไฮด์ (Hide, 2007) ของลิซ่า การ์ดเนอร์ (Lisa Gardner) ฮาร์ทซิก (Heartsick, 2007) ของเชลซี เคน (Chelsea Cain) สเตรนเจอร์ส อิน เดธ (Strangers In Death, 2008) ของเจ ดี ร็อบบ์ (J.D.Robb) ชาร์ป ออปเจ็คส์ (Sharp Objects, 2006) และดาร์ก เพลสเซส (Dark Places, 2009) ของจิลเลียน ฟลินน์ (Gillian Flynn) ผู้วิจัยพบว่าตัวละครหญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงอันเนื่องมาจากการกดขี่ทางเพศสภาพในสังคมปิตาธิปไตยที่กีดกันและแบ่งแยกให้ผู้ชายมีสถานะเหนือกว่าผู้หญิง อาทิ การกระทำความรุนแรงทางเพศที่ไม่เพียงแต่เป็นความรุนแรงทางกายแต่ยังสร้างบาดแผลไว้ในจิตใจของตัวละครหญิง และการกีดกันทางเพศในพื้นที่การทำงานที่เกิดขึ้นกับตัวละครนักสืบหญิง อย่างไรก็ตามผู้ประพันธ์ได้นำเสนอให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวละครหญิงเพื่อต่อรองกับแนวคิดดังกล่าว อาทิ ตัวละครเหยื่อผู้หญิงที่ตระหนักรู้คุณค่าในตนเองและพร้อมจะลุกขึ้นต่อกรกับอาชญากรเพื่อปกป้องตนเอง อาชญากรหญิงผู้กระทำความรุนแรงเพื่อเติมเต็มความปรารถนาในจิตใจ และนักสืบหญิงที่พิสูจน์ความสามารถของตนเองจนประสบความสำเร็จในการทำงาน บทบาทที่หลากหลายและซับซ้อนเหล่านี้สื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่านวนิยายสืบสวนสอบสวนร่วมสมัยของอเมริกาไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นพื้นที่ของตัวละครชายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ตัวละครหญิงก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นตัวละครสำคัญหรือแม้แต่ตัวละครเอกของเรื่องได้