Abstract:
การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ : ศึกษากรณีแชร์ลูกโซ่” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทย ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ และแนวทางการแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณควบคู่กับการศึกษาเชิงคุณภาพ ในการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จำนวน 396 คน ส่วนการศึกษาเชิงคุณภาพใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ประชากรที่ศึกษาจำนวน 4 คน คือ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ผลการศึกษาพบว่า มีแชร์ลูกโซ่ในประเทศไทย 3 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการขายสินค้าและบริการ มีลักษณะชักชวนให้ร่วมเล่นแบบปากต่อปาก เช่น การขายสินค้า การลงทุนแบบต่างๆ 2. รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการชักชวนให้มาเป็นสมาชิกจะมีลักษณะเหมือนยุคอดีต แต่เน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า 3. รูปแบบแชร์ลูกโซ่ที่ใช้วิธีการให้ความรู้และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหาสมาชิกเข้าร่วม และการทดสอบปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ จำนวน 11 ตัวแปร ประกอบด้วย 1) ลักษณะของเหยื่ออาชญากรรม 2) ความเชื่อ 3) การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมตามแนวพุทธ 4) แบบแผนการดำเนินชีวิต 5) กิจวัตรประจำวัน 6) โอกาส 7) การบังคับ 8) การสนับสนุน 9) ความสามารถ 10) ค่านิยม และ 11) เป้าหมาย/วัตถุประสงค์ ทั้งหมดส่งผลต่อพฤติกรรมการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ 1) การให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ที่หลากหลายและซับซ้อน 2) แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด 3) ควรมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการปราบปราม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ให้เกิดเป็นรูปธรรม และ 4) ควรแก้ไขบทลงโทษในความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ให้รุนแรงขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำความผิด