Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณค่าความรุนแรงของการเปลี่ยนสถานะสำหรับการประกันภัยโรคร้ายแรงและคำนวณหาอัตราเบี้ยประกันภัยสุทธิสำหรับการประกันภัยโรคร้ายแรงที่คุ้มครอง 6 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งระยะลุกลาม โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมองแตกหรืออุดตัน โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับวายและโรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง โดยใช้อัตราความชุกในการประมาณค่าอัตราอุบัติการณ์ของโรคร้ายแรงที่ไม่ทราบค่า ซึ่งใช้ตัวแบบหลายสถานะ(multiple state model) และฟังก์ชันคงตัวเป็นช่วง (piecewise constant function) ในการประมาณค่าความรุนแรงของการเปลี่ยนสถานะจากสถานะสุขภาพดีไปยังสถานะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงและสมมติให้ความรุนแรงของเสียชีวิตของทั้งคนสุขภาพดีและผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงเป็นไปตามตัวแบบ Gompertz-Makeham (GM) ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยคือ 1) จำนวนประชากรกลางปี 2) จำนวนการตายของประชากรไทย จำแนกตามกลุ่มอายุและเพศ 3) จำนวนการตาย และ 4) จำนวนการป่วย จำแนกตามกลุ่มอายุ เพศและสาเหตุการตายและการป่วยตามบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับแก้ไขครั้งที่ 10 (ICD-10) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2558 จากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ผลการศึกษาพบว่าความรุนแรงของการเปลี่ยนสถานะจากสถานะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงไปยังสถานะเสียชีวิตเนื่องจากโรคร้ายแรงประมาณได้ด้วยตัวแบบ GM(4,0) ทั้งเพศชายและเพศหญิง และจากสถานะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงไปยังสถานะเสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากโรคร้ายแรง สามารถประมาณได้ด้วยตัวแบบ GM(1,2) และ GM(2,2) สำหรับเพศชายและหญิงตามลำดับ เบี้ยประกันภัยสุทธิจ่ายครั้งเดียวสำหรับการประกันภัยโรคร้ายแรงแผนกำหนดผลประโยชน์ไม่ครอบคลุมการเสียชีวิต (Stand-alone benefit) และแผนกำหนดผลประโยชน์ครอบคลุมการเสียชีวิต (Acceleration benefit) มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นและเบี้ยประกันภัยสำหรับเพศชายมีค่าสูงกว่าเพศหญิงทุกกลุ่มอายุ