Abstract:
การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้แก่คนมีรายได้น้อยผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ในรูปแบบของการให้การอุดหนุนทางการเงิน ทำให้เกิดภาระทางการคลังที่สำคัญต่อรัฐบาล ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประมาณการต้นทุนการคลังที่เกิดขึ้นจากการอุดหนุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการกระจายเงินอุดหนุนสู่ภาคครัวเรือนผ่านทั้งสองสถาบันการเงินดังกล่าว และเพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของเงินอุดหนุนต่อการลดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน โดยที่ งานวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งเน้นวิเคราะห์เฉพาะต้นทุนที่มาจากการอุดหนุนโดยนัยเป็นสำคัญ ได้แก่ การอุดหนุนด้านการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ และการอุดหนุนด้านการคุ้มครองเงินฝากให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สำหรับการวิเคราะห์ต้นทุนจากการอุดหนุนที่เกิดขึ้นนั้น ผู้วิจัยจะนำแนวคิด Funding advantage models มาปรับใช้ในการประมาณต้นทุนที่เป็นไปได้ ประกอบกับการใช้ข้อมูลใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Household Socio – Economic Survey: SES) ในการศึกษา โดยจะศึกษาการอุดหนุนเฉพาะในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รวมถึงสหกรณ์ได้ศึกษาเพียงสหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2547-2556 ผลการศึกษาพบว่า ประการแรก ต้นทุนการคลังจากการอุดหนุนด้านการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ ขณะที่ต้นทุนการคลังจากการอุดหนุนด้านการคุ้มครองเงินฝากลดลงเนื่องจากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะช่วยแบ่งเบาภาระทางการคลังได้ ประการที่สองลักษณะการกระจายเงินอุดหนุนไปสู่ภาคครัวเรือนจะพบว่า ในภาพรวมของเงินอุดหนุนทั้งหมด ครัวเรือนรายได้มากจะได้รับสัดส่วนเงินอุดหนุนมากที่สุด ขณะที่ ในมิติเงินอุดหนุนต่อรายได้ครัวเรือน ไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างครัวเรือนรายได้มากและครัวเรือนรายได้น้อย และประการสุดท้าย การอุดหนุนด้านการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีมีอิทธิพลต่อการลดความไม่เท่าเทียมในภาคครัวเรือน ขณะที่ การอุดหนุนด้านการคุ้มครองเงินฝากไม่สามารถลดความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นได้