Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ชุด เดอะวิทรูเวียนแมน” มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหารูปแบบและแนวคิดในการดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเดอะวิทรูเวียนแมนโดย เลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ในประเด็นด้านสัดส่วนและรูปร่างหรือรูปทรงเรขาคณิตที่เกิดจากสรีระร่างกายของมนุษย์มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการดำเนินงาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ สื่อสารสนเทศ ข้อมูลภาคสนาม การสังเกตการณ์งานสร้างสรรค์ทางด้านนาฏยศิลป์ การสัมมนา และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย โดยนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ และสรุปผล ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของการแสดงได้ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากประเด็นด้านสัดส่วนและรูปร่างหรือรูปทรงเรขาคณิตของภาพเดอะวิทรูเวียนแมน 2) นักแสดงมีคุณสมบัติด้านสัดส่วนของสรีระร่างกายในรูปแบบที่เหมือนและต่างกันมีความสามารถทางด้านนาฏยศิลป์ 3) ลีลา นำเสนอผ่านรูปแบบนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) เครื่องแต่งกายแสดงถึงสรีระร่างกายของนักแสดงอย่างชัดเจน 5) ดนตรีและเสียงประกอบการแสดง ใช้เสียงจากนักแสดง สิ่งแวดล้อม และดนตรีสังเคราะห์ในการสร้างบรรยากาศการแสดง 6) อุปกรณ์ประกอบการแสดง ใช้เทปกระดาษกาวสองหน้าในการสื่อสารด้านการเปรียบเทียบสรีระ สร้างสรรค์รูปเรขาคณิต และใช้เครื่องฉายภาพขนาดเล็กเข้ามาส่งเสริมการแสดง 7) พื้นที่การแสดง จัดวางตำแหน่งผู้ชมเหนือพื้นที่การแสดง โดยจัดแสดงในพื้นที่ลักษณะอื่นที่ไม่ใช่โรงละคร 8) แสง ออกแบบให้เกิดความชัดเจนในการสื่อความหมายของการแสดง นอกจากนี้ในด้านแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ได้ให้ความสำคัญใน 8 ประเด็น ได้แก่ 1) ภาพเดอะวิทรูเวียนแมน 2) สัดส่วนและรูปร่างหรือรูปทรงเรขาคณิต 3) ความเรียบง่ายตามแนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) องค์ประกอบทางทัศนศิลป์ 5) ออกแบบพื้นที่การแสดงโดยวางตำแหน่งผู้ชมอยู่ในระดับที่สูงกว่านักแสดง 6) ทฤษฎีนาฏยศิลป์ร่วมสมัย 7) อุปกรณ์ประกอบการแสดง และ 8) การแสดงที่เป็นศิลปะเพื่อศิลปะ ดังนั้นผลการวิจัยทั้งหมดนี้จึงมีความสอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ผู้วิจัยได้จัดการแสดงผลงานสร้างสรรค์เพื่อเผยแพร่ มีผู้เข้าชมผลงานทั้งสิ้น 158 คน เป็นนักศึกษาทางด้านนาฏยศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนาฏยศิลป์ อาจารย์สอนนาฏยศิลป์ ศิลปะการแสดงทั้งในระดับโรงเรียนมัธยม และมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ผลจากการทำประชาพิจารณ์และแบบสอบถามสรุปได้ว่า การนำแนวคิดด้านสัดส่วนและรูปร่างหรือรูปทรงเรขาคณิตในภาพเดอะวิทรูเวียนแมนมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ท่าทางในชีวิตประจำวันเข้ามาใช้ในการแสดง มีการเน้นย้ำ ที่ส่งผลให้ผู้ชมสามารถรับรู้เรื่องราวการแสดงได้อย่างชัดเจน และผู้เข้าร่วมชมการแสดงยอมรับถึงรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ชิ้นนี้ อันก่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ควรเผยแพร่และคุณค่าต่อการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏยศิลป์