Abstract:
โครงสร้างทางอายุของประชากรไทยในอดีตได้เปลี่ยนผ่านเป็นโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ชุมชนเมืองไม่สามารถรองรับความต้องการหรือให้ความช่วยเหลือได้ เพราะมีความเป็นเมืองสูง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ 1)ศึกษาลักษณะทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสภาพการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ 2)วิเคราะห์รูปแบบทางกายภาพ พฤติกรรม การใช้งาน และปัญหาการใช้พื้นที่ของผู้สูงอายุ 3)เสนอแนะแนวทางออกแบบปรับปรุงทางกายภาพให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่ 3 ชุมชนในเขตวังทองหลาง ได้แก่ ชุมชนทรัพย์สินใหม่ ชุมชนทรัพย์สินเก่า และชุมชนคลองพลับพลา สัมภาษณ์ผู้สูงอายุจำนวน 110 คน และนำมาคัดเลือกกรณีศึกษา 9 ตัวอย่าง เป็นแนวทางในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันยังมีผู้สูงอายุในชุมชนที่ทำอาชีพหาเลี้ยงตนเอง และคนในครอบครัวอยู่ เนื่องจากฐานะ และรายได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ติดบ้าน และไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่จะเป็นการพักผ่อน และทำอาชีพ พื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่มากที่สุด คือ โถงหรือห้องนั่งเล่น ระยะเวลาเฉลี่ย 8 ชั่วโมง พื้นที่สำคัญรองลงมาคือ ห้องนอน และระเบียงหรือเฉลียง ตามลำดับ จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุร้อยละ 83 ไม่คิดย้ายที่อยู่อาศัย เพราะคุ้นชินกับการอยู่อาศัยในที่เดิม มีความสัมพันธ์แบบเครือญาติ อยู่อาศัยกันมานานมากกว่า 30 ปี ในพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการให้ผู้สูงอายุอาศัยในที่เดิม (Aging in place) ในด้านของการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า ผู้สูงอายุที่เคยได้รับอุบัติเหตุในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 31 ส่วนใหญ่ได้รับอุบัติเหตุภายในบ้าน พื้นที่ที่ได้รับอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือ พื้นที่ชานบ้าน เป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุออกมานั่งเล่นระหว่างวัน มักเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากมีพื้นต่างระดับ และพื้นผุพัง รองลงมาคือ ห้องน้ำ เนื่องจากพื้นห้องน้ำที่ลื่น และมีธรณีประตู เป็นต้น จากกรณีศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 5 ใน 9 คน พบว่า ผู้สูงอายุนอนบริเวณโถงบ้าน ทำให้ไม่มีความเป็นส่วนตัว และเป็นสัดส่วน ดังนั้น ควรจะต้องมีการกั้นห้องให้ถูกสุขลักษณะ มีส่วนมิดชิด เพื่อใช้กับกิจกรรมการอยู่อาศัยเฉพาะบุคคล จากผลการศึกษาสรุปได้ว่า ควรจัดพื้นที่อยู่อาศัยที่ส่งเสริมอาชีพให้ผู้สูงอายุ และปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะบริเวณโถงหรือห้องนั่งเล่นที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อย อีกทั้งเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อผู้สูงอายุในชุมชนเมือง ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ควรใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นนำมาออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ และในชุมชนควรมีการส่งเสริมช่างชุมชน เพื่อเป็นตัวกลางในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และพื้นที่ภายนอกให้เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนภายในชุมชน