Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบคุณภาพของชุดเครื่องมือในการประเมินพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทสำหรับเด็กไทยผ่านพฤติกรรมการเล่นของเล่นของเด็ก กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้คือ เด็กไทยอายุ 12 เดือน จำนวน 30 คน และเด็กไทยอายุ 18 เดือน จำนวน 30 คน จากครอบครัวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่พัฒนาและตรวจสอบคุณภาพในงานวิจัยนี้ ได้แก่ 1. Delay recognition task พัฒนาตามแนวคิดของ Rose et al. (2011) ใช้ในการประเมินความจำแบบการจำได้ (Recognition memory) 2. Deferred imitation task พัฒนาตามแนวคิดของ Bauer et al. (2000) ใช้ในการประเมินความจำแบบการระลึก (Recall memory) 3. Looking version of the A-not-B task พัฒนาตามแนวคิดของ Bell และ Adams (1999) ใช้ในการประเมินความจำใช้งาน (Working memory) ผลการวิจัยพบว่า เครื่องมือ Delay recognition task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson correlation coefficient) เท่ากับ .966 การวิเคราะห์ independent samples t-test พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำแบบการจำได้สูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -2.795, p < .005) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน เครื่องมือ Deferred imitation task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์แคปปา (Cohen’s kappa coefficient) เท่ากับ .879 การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมแบบ one-way ANCOVA พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำแบบการระลึกสูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F(1,57) = 20.002, p < .001) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน เครื่องมือ Looking version of the A-not-B task มีค่าความเที่ยงระหว่างผู้ประเมินในระดับดีมาก คือ มีค่าสัมประสิทธิ์แคปปา (Cohen’s kappa coefficient) เท่ากับ 1.000 การวิเคราะห์ independent samples t-test พบว่าเด็กอายุ 18 เดือนมีคะแนนความจำใช้งานสูงกว่าเด็ก 12 เดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -3.842, p < .001) ซึ่งแสดงว่าเครื่องมือนี้มีความตรงเชิงภาวะสันนิษฐาน