Abstract:
การเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC ระหว่างตัวแบบเต็มรูปกับตัวแบบลดรูปเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งวิธีที่นิยมใช้ในการเปรียบเทียบ คือ วิธี Delong แต่วิธีนี้ควรนำมาใช้เมื่อผลต่างของพื้นที่ ROC มีการแจกแจงปกติ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC ระหว่างตัวแบบเต็มรูปกับตัวแบบลดรูปเมื่อผลต่างของพื้นที่ ROC ไม่มีการแจกแจงแบบปกติ โดยทำการแปลงข้อมูลผลต่างพื้นที่ใต้โค้ง ROC ระหว่างตัวแบบเต็มรูปและตัวแบบลดรูปให้มีการแจกแจงปกติแล้วนำไปทดสอบผลต่างด้วย Z-test (วิธี Transform) นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC ระหว่างวิธี Transform และวิธี Delong test โดยทำการจำลองข้อมูลจาก German credit ใน package caret ในโปรแกรม R เพื่อนำมาสร้างตัวแบบโลจิสติกสำหรับการเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้งของทั้ง 2 วิธี และนำผลของทั้ง 2 วิธีในแต่ละขนาดตัวอย่างมาหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กับผลการวิเคราะห์จากวิธี Likelihood ratio test (LRT) ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ใช้เปรียบเทียบตัวแบบโลจิสติก อนึ่งวิธี LRT นี้ไม่สามารถใช้เปรียบเทียบตัวแบบทางสถิติบางตัวแบบ เช่น Support Vector Machine แต่สามารถทำการเปรียบเทียบตัวแบบได้โดยการเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC ดังนั้นการเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC จึงเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยเลือกตัวแบบที่เหมาะสม ผลการวิจัยพบว่า ที่ขนาดตัวอย่าง 300 500 และ 1000 วิธีการเปรียบเทียบพื้นที่ใต้โค้ง ROC โดยวิธีการแปลงข้อมูลผลต่างพื้นที่ใต้โค้ง ROC (วิธี Transform) มีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ p-value ที่สอดคล้องกับวิธี LRT มากกว่าวิธี Delong อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 นอกจากนั้นพบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของ p-value มีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05