Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องพัฒนาการเรือมกันตรึม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการเรือมกันตรึม องค์ประกอบการแสดงและการรำเรือมกันตรึม โดยขอบเขตของการศึกษาที่มุ่งเน้นพัฒนาการเรือมกันตรึมที่นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ ประดิษฐ์ขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2559 โดยค้นคว้าจากเอกสารการสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ และการรับฝึกหัดชุดท่ารำเรือมกันตรึม เรือมกันตรึมแสดงประกอบกับดนตรีกันตรึม รูปแบบคือ 1ทำนองเพลง 1ชุดท่ารำ รวมทั้งหมด 7ชุดท่ารำ คือ 1.ซารายัง นำมาจากเลียนแบบกิริยาเยื้องย่างของสตรีในขบวนแห่, 2.เซิ้บ เซิ้บ นำมาจากการทักทายเชิญชวนของผู้ละเล่นกันตรึม, 3.กัญจัญเจก นำมาจากการเลียนแบบอากัปกิริยาของเขียดตะปาด, 4.อันซองเสนงนบ นำมาจากการรำประกอบขบวนแห่ขันหมาก, 5.มะม๊วต นำมาจากการรำในพิธีกรรมเข้าทรง, 6.อมตูก นำมาจากประเพณีแข่งเรือยาว และ7.มงก็วลจองได นำมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นเมืองด้วยผ้าไหมและประดับด้วยปะเกือม อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ การวิจัยพบว่าพัฒนาการเรือมกันตรึมแบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ 1. ก่อนเกิดเรือมกันตรึม(ก่อนปีพ.ศ.2526),2.เรือมกันตรึมเผยแพร่สู่ชุมชน(พ.ศ.2526-พ.ศ.2531), 3. เรือมกันตรึมในสถานศึกษา(พ.ศ.2532-พ.ศ.2548) และ4. เรือมกันตรึมในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์(พ.ศ.2549-พ.ศ.2559) ในช่วงที่1พบว่ามีการละเล่นกันตรึมมุ่งเน้นการบรรเลงดนตรีและขับร้อง ส่วนการรำพบในพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงที่2 เมื่อพ.ศ.2526 นางแก่นจันทร์ได้ประดิษฐ์การรำพื้นเมืองขึ้นใหม่ โดยนำเอาการละเล่นกันตรึมและการรำแบบดั้งเดิมมาเรียงร้อยเป็นชุดการแสดงขึ้นใหม่เรียกว่า“เรือมกันตรึม”เพื่อแสดงในการสัมมนาเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์ ในพ.ศ.2528 มีการนำไปเผยแพร่ที่หมู่บ้านดงมันซึ่งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์การละเล่นกันตรึม และปีพ.ศ.2530 เรือมกันตรึมมีการปรับปรุงท่ารำและนำผู้ชายมาร่วมแสดงโดยนางสำรวม ดีสม ในช่วงที่3มีการนำเรือมกันตรึมเข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา คือ วิทยาลัยครูสุรินทร์ พ.ศ.2532, วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดพ.ศ.2540, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และโรงเรียนสินรินทร์วิทยา จ.สุรินทร์ พ.ศ.2541 ในช่วงที่4 พ.ศ.2549-พ.ศ.2559 เรือมกันตรึมได้แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบและมีการนำชุดท่ารำของเรือมกันตรึมไปปรับใช้และเป็นแนวทางในการออกแบบสร้างสรรค์นาฏยศิลป์พื้นเมืองอีสานใต้ชุดใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูเรือมกันตรึมฉบับดั้งเดิมด้วย