Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การจัดการแสดง แสง เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและกระบวนการจัดการแสดงแสง เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย” ในประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปี พ.ศ. 2559 การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้วิธีดำเนินการวิจัยด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร วารสาร หนังสือ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการลงภาคสนามเพื่อสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ ผลการศึกษาพบว่าการแสดงแสง เสียง ในประเทศไทยเกิดจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2519 โดยกรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดการแสดงแสง เสียง ชุด “รุ่งอรุณแห่งความสุข” ขึ้นที่จังหวัดสุโขทัย กิจกรรมดังกล่าวจึงได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายรวมถึงจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งในขณะนั้นนายพร อุดมพงษ์ (ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์) มีความคิดริเริ่มให้จัดประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งขึ้นส่งผลให้เกิดการแสดงแสง เสียง ชุด “พนมรุ้งมหาเทวาลัย” ในปี พ.ศ. 2534 จัดแสดง ณ สถานที่จริง เนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาการสร้างปราสาทพนมรุ้งด้วยวิธีประพันธ์บทละครขึ้นใหม่ผ่านการแสดงของตัวละครโดยใช้กระบวนท่าที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาติ (กำแบ) และกระบวนท่ารำที่นำท่ารำมาตรฐานแบบหลวงผสมผสานกับท่าที่เลียนแบบจากภาพจำหลัก และการใช้ลิปซิ้ง (Lip - synch) ในการเล่าเรื่องราว รวมถึงดนตรี เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการแสดงที่สื่อถึงเชื้อชาติและวัฒนธรรมอีสานใต้ รูปแบบการเข้า – ออก มีทั้งการทำท่านิ่งในตำแหน่งของตนและการเคลื่อนที่เข้า – ออก จากเวที นอกจากนี้ยังมีระบำในการแสดงจำนวน 2 ชุด และการรำเดี่ยวอีก 2 ชุด ประกอบการนำนวัตกรรมแสง สี เสียง และเทคนิคพิเศษเข้ามาในการแสดงทุกฉาก เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเขต 1) ตลอดจนได้รับความอนุเคราะห์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ปัจจุบันคุณจเร สัตยารักษ์ และคุณธารณา คชเสนี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดการแสดงโดยจัดตั้งเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาดำเนินงาน จึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญในประเพณีประจำจังหวัดและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน