Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประวัติ และรูปแบบการแสดงในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ มีขอบเขตการศึกษา คือ การแสดงนาฏยศิลป์ในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ ปี พ.ศ.2530-พ.ศ.2559 โดยใช้การรวบรวมเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้แสดง การสังเกตการณ์และประสบการณ์ส่วนตัวของผู้วิจัย จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ถึงประวัติและรูปแบบการแสดง จัดเรียงองค์ความรู้ สรุปผล และนำเสนอเป็นผลงานวิจัยตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า งานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ เป็นงานที่อยู่ภายใต้โครงการดนตรีไทย-ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จัดตั้งโครงการฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 จากการอนุมัติโดยที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ด้านประวัติศาสตร์ หลักการบรรเลง โน้ตเพลง อีกทั้งการจัดสร้างเครื่องดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ตั้งแต่แรกเริ่มจัดตั้งโครงการฯ โดยพระราชทานข้อวินิจฉัย ติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดจนทรงร่วมฝึกซ้อมและทรงร่วมบรรเลงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 26 มีนาคม ของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบสถาปนาจุฬาฯ รูปแบบการแสดงนาฏยศิลป์ที่พบในงานปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จุฬาฯ เป็นรูปแบบของนาฏยศิลป์แบบราชสำนัก ได้แก่ 1.การแสดงนาฏศิลป์จากบทพระนิพนธ์ของของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ละครภาพนิ่ง, ระบำในละครดึกดำบรรพ์, ละครดึกดำบรรพ์) 2.การแสดงนาฏศิลป์จากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์ (ละครภาพนิ่ง, ระบำในละครดึกดำบรรพ์) 3.การแสดงระบำทั่วไป (ระบำมาตรฐาน, ระบำสัตว์, ระบำในละครพันทาง) และรูปแบบของนาฏยศิลป์สร้างสรรค์ ได้แก่ 1.การแสดงพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2.การแสดงระบำในโอกาสสำคัญ และเทิดพระเกียรติ ซึ่งรายการแสดงในแต่ละปีจะจัดรายการแสดงโดยเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมติที่ประชุมของคณะกรรมการจัดงาน