Abstract:
ลูชาโน ฟลอริดิ(Luciano Floridi) เสนอแนวคิดที่เรียกว่าปรัชญาสารสนเทศ. ปรัชญาสารสนเทศนี้เป็นแนวคิดที่ถกเถียงกับทฤษฎีการสื่อสารหรือทฤษฎีสารสนเทศแบบคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองว่าสารสนเทศคือหน่วยของข้อความในระบบการสื่อสาร. แต่สำหรับฟลอริดิแล้ว ปรัชญาสารสนเทศนี้เป็นการพิจารณาสารสนเทศในฐานะมโนทัศน์พื้นฐานทางปรัชญา(Philosophia Prima). ประเด็นสำคัญสำหรับปรัชญาสารสนเทศในฐานะมโนทัศน์ทางปรัชญาก็คือ สารสนเทศเป็นองค์ประกอบของการอ้างความรู้ เพราะว่าการได้รับสารสนเทศที่เป็นจริงถือเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลสนับสนุนความเชื่อ(Justified Belief). และข้อเสนอสำคัญในปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิคือแนวคิดเรื่องสัจนิยมแบบโครงสร้างสารสนเทศ กล่าวคือ สารสนเทศเป็นโครงสร้างการอธิบายความเป็นจริง. สัจนิยมแบบโครงสร้างสารสนเทศจึงถือเป็นข้อเสนอทางอภิปรัชญาผ่านแนวคิดปรัชญาสารสนเทศ. วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะทำการศึกษาประเด็นอภิปรัชญาในปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิ และเสนอเหตุผลปกป้องปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดิจากข้อโต้แย้งของนักปรัชญาท่านอื่นๆ. และผู้วิจัยจะแสดงให้เห็นปัญหาของปรัชญาสารสนเทศของฟลอริดินั่นก็คือ ปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยา จากนั้นผู้วิจัยได้เสนอแนวทางหลีกเลี่ยงปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยาด้วยแนวคิดมุมมองอัตวิสัยและวัตถุวิสัยของจิตสำนึกในแนวคิดของธอมัส เนเกล(Thomas Nagel). มุมมองอัตวิสัยและวัตถุวิสัยของจิตสำนึกคือการถอยออกมาจากมุมมองอัตวิสัยแล้วพิจารณามุมมองเดิมเป็นวัตถุของจิตสำนึก ซึ่งการถอยออกจากมุมมองเดิมนี้ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองเดิมกับโลก. การมองเห็นความสัมพันธ์ของมุมมองเดิมกับโลกจะทำให้เกิดการประเมินมุมมองของตนเองและหลีกเลี่ยงปัญหาระดับชั้นทางญาณวิทยาได้