Abstract:
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้มี 3 ประการคือ เพื่อศึกษา 1) องค์ประกอบการสื่อสารของปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยตามแนวชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร 2) โครงสร้าง องค์ประกอบปริจเฉท และกลวิธีการกู้ภาพลักษณ์ในปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทย และ 3) ความคิดความเชื่อและค่านิยมในสังคมไทยที่สะท้อนจากกลวิธีการกู้ภาพลักษณ์ในปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทย ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยได้จากคลิปวิดีโอการแถลงข่าวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยที่สื่อมวลชนได้บันทึกไว้และเผยแพร่สู่สาธารณชน แนวทางการศึกษาคือปริจเฉทวิเคราะห์และวัจนปฏิบัติศาสตร์ ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสาร (Hymes, 1974) เป็นกรอบในการวิเคราะห์องค์ประกอบของการสื่อสาร ส่วนการวิเคราะห์กลวิธีที่ใช้ในการแถลงข่าว ผู้วิจัยได้นำทฤษฎีการกู้ภาพลักษณ์ (Benoit, 1995) มาเป็นแนวทางการวิเคราะห์ นอกจากนี้ยังได้นำแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการขอโทษมาใช้วิเคราะห์ชุดวัจนกรรมการขอโทษที่ปรากฏในปริจเฉทการแถลงข่าวด้วย ผลการศึกษาองค์ประกอบการสื่อสารของปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยตามแนวชาติพันธุ์วรรณนาแห่งการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า ผู้ร่วมเหตุการณ์การสื่อสาร จุดมุ่งหมาย และบรรทัดฐานของการตีความและปฏิสัมพันธ์ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก โครงสร้าง องค์ประกอบปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยแบ่งได้เป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) ส่วนเปิด 2) ส่วนเนื้อเรื่อง และ 3) ส่วนปิด แต่ละส่วนมีองค์ประกอบที่สัมพันธ์กันรวมทั้งมีลำดับการเกิดที่แสดงความเป็นปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยที่มีลักษณะเฉพาะ ผลการศึกษากลวิธีการกู้ภาพลักษณ์พบว่า มีกลวิธีหลัก 5 กลวิธี ได้แก่ การปฏิเสธ การลดความรับผิดชอบ การลดข้อขุ่นข้องหมองใจ การแสดงความยินยอมแก้ไข และการยอมรับผิดและการขอโทษ ทุกกลวิธีสามารถใช้เพื่อจุดมุ่งหมายชี้แจง กู้ภาพลักษณ์ และขอโอกาส อย่างไรก็ดีแต่ละกลวิธีมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป ทำให้มีความถี่ของการปรากฏที่แตกต่างกัน กลวิธีหลักที่ปรากฏพบมากที่สุดคือการลดข้อขุ่นข้องหมองใจ แสดงให้เห็นว่าผู้แถลงข่าวมีความเชื่อว่าหากสามารถลดความรู้สึกขุ่นข้องหมองใจของผู้ฟังได้ ภาพลักษณ์ที่เสียไปก็น่าจะกู้คืนกลับมาได้บ้าง เมื่อพิจารณากลวิธีย่อยของกลวิธีการลดข้อขุ่นข้องหมองใจ จะเห็นว่าการเสนอมุมมองใหม่เป็นกลวิธีที่พบมากที่สุด เนื่องจากเมื่อใช้กลวิธีนี้ ผู้แถลงข่าวสามารถนำเสนอมุมมองของเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นให้เป็นไปในทางบวก เมื่อไม่สามารถปฏิเสธเรื่องที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากมีหลักฐานชี้ชัด มุมมองใหม่จะช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพผู้แถลงข่าวต่างไปจากที่ได้เห็นจากการรายงานข่าว กลวิธีหลักการยอมรับผิดและการขอโทษพบเป็นอันดับ 2 แสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของการจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์อื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทยไม่ใช่การแสดงความสำนึกผิด เมื่อพิจารณากลวิธีย่อยของการยอมรับผิดและการขอโทษในลักษณะที่เป็นชุดวัจนกรรมแล้วจะพบว่า การอธิบายปรากฏมากเป็นอันดับ 2 รองจากการใช้ถ้อยคำแสดงวัจนกรรมการขอโทษ แสดงให้เห็นว่าการขอโทษของบุคคลในวงการบันเทิงไทยเป็นการกล่าวถ้อยคำเพื่อนำไปสู่การอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแบบที่จะช่วยกู้ภาพลักษณ์ให้ตนเองได้ ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่มีผลต่อปริจเฉทการแถลงข่าวอื้อฉาวของบุคคลในวงการบันเทิงไทย ได้แก่ ความคิดเรื่องการให้อภัย ความคิดเรื่องระบบอุปภัมภ์และบุญคุณ ความคิดเรื่องผู้ใหญ่-ผู้น้อย (ระบบอาวุโส) ความคิดเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความคิดเรื่องการรักษาบทบาทตามสถานภาพทางเพศ ความคิดดังกล่าวล้วนสัมพันธ์กับความเป็นสังคมแบบอิงกลุ่ม กล่าวคือ เมื่อข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์อื้อฉาว กลวิธีการแถลงข่าวที่บุคคลในวงการบันเทิงไทยใช้ล้วนแสดงให้เห็นว่าผู้พูดในปริจเฉทนี้คำนึงถึงบรรทัดฐานของกลุ่มหรือสังคม และตระหนักเรื่องการถูกประเมินค่าจากบุคคลแวดล้อมมากกว่าการแสดงความสำนึกผิดและรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิด