Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชุดความคิดเกี่ยวกับ “บุญ” ที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในวาทกรรมสื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis CDA) ของแฟร์คลัฟ (Fairclough, 1995) ตามกลุ่มเป้าหมายผู้รับสื่อ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มประชาชนทั่วไป 2) กลุ่มผู้นำบุญ และ 3) กลุ่มเด็กและเยาวชน ผลการวิจัยพบว่า วาทกรรมสื่อสำหรับประชาชนทั่วไปของวัดพระธรรมกายได้ถ่ายทอดอุดมการณ์“บุญ” ผ่านชุดความคิดสำคัญ 3 ชุดความคิด ได้แก่ 1) “บุญ” ของวัดพระธรรมกาย 2) “วิธีการบุญ” ของวัดพระธรรมกาย และ 3) อานิสงส์บุญ” ของวัดพระธรรมกาย ชุดความคิดทั้งหมดกำหนดพฤติกรรมให้ผู้ศรัทธาเลือกทำบุญกับวัดพระธรรมกายด้วยการทำให้เชื่อว่าบุญมีอำนาจในการบันดาลทรัพย์และบันดาลความสุขทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ซึ่งวิธีการทำ “บุญ” ที่ดีที่สุดคือการเลือกทำบุญกับวัดพระธรรมกาย ชุดความคิดทั้งหมดที่วาทกรรมนำเสนอส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการทำบุญ 3 ประการ คือ 1) การทำบุญแบบขวนขวาย 2) การทำบุญแบบทุ่มเท และ 3) การทำบุญแบบสะสมบุญ เพราะเชื่อว่าจะได้อานิสงส์หรือปริมาณบุญมากกว่าการทำบุญอื่น สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็วในชาตินี้ และส่งผลอย่างแน่นอนในชาติหน้า ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่า ผู้บริโภคสื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามความคิดที่ผู้ผลิตวาทกรรมนำเสนอ นอกจากนี้สื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายมีการเผยแพร่ไปยังช่องทางออนไลน์ทำให้กลุ่มผู้ศรัทธาบริโภคสื่อได้สะดวก และสื่อยังแพร่กระจายไปยังผู้ศรัทธารายใหม่ได้ง่ายและกว้างขึ้น ดังนั้นอุดมการณ์ที่นำเสนอจึงน่าจะส่งผลต่อสังคมได้ในวงกว้าง ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรมพบว่า ชุดความคิดเกี่ยวกับ “บุญ” ที่เผยแพร่ผ่านสื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายนั้นมีความสัมพันธ์กับความคิดเรื่อง “บุญ” ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับความคิด และความเชื่อในสังคมไทยหลายประการ อาทิ ความคิดเรื่องบารมี ความคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระสงฆ์ ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย และความเชื่อเรื่องความเสื่อสูญของศาสนา ขณะเดียวกันชุดความคิดเกี่ยวกับ “บุญ” ก็อาจส่งผลต่อความคิดความเชื่อของผู้บริโภควาทกรรมในด้านต่างๆ ได้แก่ การสืบทอดความเชื่อเรื่อง “บุญ” ในสังคมไทย การนำเสนอภาพสังคมในอุดมคติแบบพุทธรัฐ การกำหนดแบบอย่างในการปฏิสัมพันธ์และรูปแบบพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในสังคม และการนิยามชีวิตที่มีความสุขด้วย “การแปรสินทรัพย์เป็นบุญ” งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นมุมมองเชิงวิพากษ์ว่า สื่อที่ผลิตโดยวัดพระธรรมกายมิได้เป็นการสอนให้ปุถุชนทำบุญเพื่อสละความโลภตามคำสอนในพุทธศาสนา แต่กลับตอกย้ำให้โลภในการทำบุญและสะสมมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่การทำบุญจนเกินกำลัง วาทกรรมชุดนี้มีส่วนสำคัญในการครอบงำทางความคิด (Hegemony) และกำหนดพฤติกรรมการทำบุญที่พึงประสงค์ตามแนวทางของวัดพระธรรมกายได้