Abstract:
ในกระแสยุคโลกาภิวัฒน์การเปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อวิถีชีวิตให้เร่งรีบทำให้ขาดความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดความเครียดสะสม พุทธศาสนิกชนต่างหันหน้าเข้ามาพึ่งพระศาสนาเพื่อนำคำสั่งสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อค้นหาความหมายของชีวิตและหลีกหนีความวุ่นวายเป็นที่พักทางจิตใจจากการศึกษากลุ่มเป้าหมายการวิจัยพบว่า พุทธศาสนิกชนที่เป็นสตรี อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 30-45 ปี อยู่ในสายวิชาชีพและสายงานที่เกี่ยวข้อง มีความใส่ใจใฝ่ในวิถีธรรมเพื่อหวังพบความสุขที่ยั่นยืนและฉลาดในการปรับตัวตามวิถีโลกสนใจเครื่องแต่งกายแฟชั่นที่สามารถสะท้อนบุคลิกภาพเป็นอย่างดี จัดอยู่ในกลุ่มเจนเนอเรชั่นเอ็กและเจนเนอเรชั่นวาย พุทธศาสนานิกายเซนมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิถีชีวตอย่างกลมกลืน นิกายเซนถูกเรียกอีกชื่อว่า “นิกายฉับพลัน” จากแก่นแท้แนวคิดเรื่อง “ความว่างเปล่า” ทำให้เป็นที่นิยมในพุทธศาสนิกชนทั่วโลกและไทย เพราะปฏิบัติได้สะดวกและเห็นผลได้รวดเร็ว การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแก่นแท้แนวคิดและเปรียบเทียบ ระหว่างวิถีพุทธเถรวาทกับเซน เพื่อหาความแตกต่าง เพื่อเป็นแนวทางการออกแบบสร้างสรรค์อัตลักษณ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ จากวิถีพุทธเถรวาทกับเซนอย่างร่วมสมัย โดยการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ การศึกษาเอกสารทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ การสังเกต การสัมภาพเชิงลึก (In-depth interview) กับผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาและปรัชญา และด้านแฟชั่นและการออกแบบรวมกับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม (Focus Group) เพื่อให้ได้ข้อมูลหลัก (Key-informants) ควบคู่กับเทคนิคสามเส้า(Triangulation technique) เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความเที่ยงตรงของข้อมูล ผลจากการวิจัยพบว่า ความแตกต่างที่ได้เป็นอัตลักษณ์ จากวิถีพุทธที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างฉับพลัน ในนิกายเถรวาท ได้แก่ การพิจารณาวางร่างกายเพื่อพบความว่างเปล่า ที่ต้องกระทำซ้ำๆอย่างต่อเนื่องให้เป็นธรรมดา โดยมีหลักธรรมสำคัญ คือ กรรมฐาน 40 ในข้อ กายคตาสติกรรมฐาน สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา ที่มีวิธีปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนปกติ ตามธรรมชาติของรูปและนาม และในนิกายเซน ได้แก่ รู้จิตเดิมแท้ ถึงความว่างเปล่าโดยทันทีทันใด มีหลักธรรมสำคัญ คือ สันโดษ ความมักน้อยใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติสรรพสิ่งอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มีวิธีปฏิบัติไม่ขึ้นอยู่กับกระบวนการและขั้นตอนปกติ ดังนี้จึงถูกนำไปตีความและเชื่อมโยงตามแนวคิดทฤษฎีสัญศาสตร์ในลักษณะภาพแทนความหมาย(Semiotics and Visual Representation) เพื่อใช้สื่อสารเป็นแนวทางสู่การออกแบบสร้างสรรค์อัตลักษณ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ จากวิถีพุทธเถรวาทกับเซน โดยองค์ประกอบทางการออกแบบ ได้แก่ รูปร่างรูปทรง สี วัสดุ รายละเอียดตกแต่ง ที่สอดคล้องกับแนวคิดความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ที่สะท้อนบุคลิกภาพความทันสมัยและความสง่างาม