Abstract:
จากการวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบมาตรฐานงานออกแบบเรขศิลป์เพื่อสภาพแวดล้อมของเมืองสร้างสรรค์ มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อค้นหาเกณฑ์และรูปแบบองค์ประกอบของเรขศิลป์เพื่อสภาพแวดล้อมของเมืองสร้างสรรค์ 2) เพื่อค้นหาแนวทางระบบเรขศิลป์เพื่อสภาพแวดล้อม โดยคำนึงถึงชุมชนในพื้นที่ 3) เพื่อนำเสนอแนวทางต้นแบบการออกแบบระบบป้ายสัญลักษณ์สำหรับเมืองสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้วิจัยได้ค้นพบแนวความคิดหลักในการออกแบบป้ายสัญลักษณ์ฯ ที่สามารถสื่อสารข้อมูล ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ได้แก่ การบอกชี้นำทาง แนะนำสถานที่ และแจ้งข่าวกิจกรรม อีกทั้งยังสามารถปรับ เปลี่ยนขนาด และเคลื่อนย้ายได้ ผู้วิจัยได้เลือก “ยานนาวา” เป็นพื้นที่สำหรับทำการศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ทีมีศักยภาพและความพร้อมจากการเป็นย่านที่ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อให้เป็นที่สาธารณะ มีระบบโครงสร้างพื้นฐานประกอบกับมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับย่านบางรัก เจริญกรุง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่กรุงเทพมหานคร จะพัฒนาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ในอนาคตตามหลักเกณฑ์ขององค์กรยูเนสโก ระเบียบวิธีวิจัยที่ผู้วิจัยใช้เพื่อการวิจัยนี้ คือ การวิจัยแบบผสมผสาน โดยเน้นกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ตามเนื้อหาจากการวิจัยเอกสาร การสำรวจพื้นที่ และตรวจสอบความตรงของข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ชุมชนกลุ่มเป้าหมาย และผู้เชี่ยวชาญทางการออกแบบ ในการออกแบบฯ ได้คำนึงถึงองค์ประกอบของเรขศิลป์ และเกณฑ์การออกแบบป้ายสัญลักษณ์ ข้อกำหนดในการนำไปใช้งาน ชนิดของป้าย การพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ข้อควรคำนึงถึงภัยอันอาจเกิดขึ้นจากการบ่อนทำลายและเสื่อมสภาพ การประยุกต์ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติม การอ่าน การสื่อสารในเรื่องของภาษา กฏระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ และความจำเป็นในเรื่องของแสงสว่าง ผู้วิจัยได้กำหนดแนวความคิด'ป้ายสัญลักษณ์แบบปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ Pop-up Signage' เพื่อนำไปออกแบบป้ายสัญลักษณ์ โดยเลือกแนวความคิดแบบ “บล็อก BlocKitecture” ผลของการศึกษาวิจัยค้นพบว่ารูปแบบป้ายสัญลักษณ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ อีกทั้งยังส่งเสริมอัตลักษณ์ของพื้นที่ จากแนวโน้มและการจัดกิจกรรมของเมืองหรือย่านที่เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย