Abstract:
การวิจัยสร้างสรรค์ ศิลปะสื่อภาพถ่าย: ความรุนแรงในความสงัด มาจากความกลัวความรุนแรงในความไม่ปลอดภัยต่อร่างกายและทรัพย์สินที่มีอยู่ในเมืองหลวงที่เงียบสงัดยามค่ำคืน ความกลัวนี้มาจากการรับข้อมูลข่าวสารอาชญากรรม การบอกกล่าวตักเตือนและประสบการณ์ตรงของผู้วิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความกลัวในความไม่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสื่อภาพถ่ายที่สะท้อนบรรยากาศความรุนแรงของกรุงเทพมหานครที่เงียบสงัดยามค่ำคืน ขั้นตอนการวิจัยคือ 1) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวกับการรับรู้ ความกลัว ความรุนแรงอาชญากรรม ข้อมูลข่าวสารและลักษณะพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุอาชญากรรม ทฤษฎีจิตวิสัย (Sublime) ศิลปะภาพถ่าย และศิลปินที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวคิด รูปแบบ ความงาม (Aesthetic) และการสื่อความหมาย 2) สำรวจพื้นที่และทดลองถ่ายภาพเพื่อคัดเลือกสถานที่ 3) สร้างสรรค์ผลงาน 4) พัฒนาผลงาน 5) วิเคราะห์ อภิปรายผลงานและสรุปผล จากการศึกษารูปแบบความกลัวความรุนแรงพบว่า การรับรู้ข่าวสารจำนวนมากทำให้ความรู้สึกกลัวต่อภัยอาชญากรรมสูงขึ้นและรูปแบบความกลัวมีความสัมพันธ์กับลักษณะของสถานที่ โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1) ความกลัวความรุนแรงที่เกิดต่อร่างกาย การปล้นจี้และชิงทรัพย์มักเกิดในพื้นที่ที่มีตึก อาคาร บ้านเรือน หรือเส้นทางสัญจรทั่วไป และ 2) ความกลัวในความรุนแรงที่เกิดต่อร่างกาย ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกายและการข่มขืน มักเกิดในบริเวณที่เป็นทุ่งหญ้ารกร้างซึ่งเป็นความกลัวที่มักเกิดกับเพศหญิง โดยสร้างสรรค์ภาพถ่ายเมือง (City scape) เป็นภาพถ่ายขาวดำ ขนาด 70x150 เซนติเมตร จำนวน 21 ชิ้น จากพื้นที่ 11 เขตในกรุงเทพมหานคร ผลการวิจัยพบว่า เทคนิคการต่อภาพ (Stitching) เป็นพาโนราม่าจะขยายมุมมองในการรับรู้และช่วยเพิ่มคุณภาพของไฟล์ให้สามารถพิมพ์ในขนาดใหญ่ขึ้นได้ เพราะขนาดของภาพที่แคบเป็นข้อจำกัดในการรับรู้ ซึ่งภาพขนาดใหญ่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในภาพ ทั้งการถ่ายภาพให้เห็นพื้นที่ว่าง การใช้มุมมองระดับสายตา การระบายแสง (Light painting) และปรับปรุงภาพหลังถ่าย (Post production) ด้วยการเพิ่มลดแสงเฉพาะจุด เพิ่มความชัด (Clarity) ของพื้นผิว ช่วยเน้นให้เกิดการรับรู้ถึงบรรยากาศความรุนแรงในสถานที่นั้นได้ดีขึ้น