Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษากลวิธีการดัดแปลงพงศาวดารจีนฉบับแปลไทยเป็นบทละครรำของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ บทละครเรื่องกวางเผง บทละครเรื่องซุยถัง บทละครเรื่องไต้ฮั่น บทละครเรื่อง บ้วนฮวยเหลา บทละครเรื่องสามก๊ก และบทละครเรื่องห้องสิน และศึกษาคุณค่าของบทละครรำดังกล่าวในฐานะวรรณคดีการแสดง ผลการศึกษาพบว่าพงศาวดารจีนฉบับแปลไทยที่หลวงพัฒนพงศ์ภักดีนำมาแต่งเป็นบทละครรำกลุ่มนี้มีทั้งเรื่องที่ได้รับความนิยมมาช้านานและเรื่องใหม่ ๆ ที่เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในสังคมสมัยนั้น โดยตอนที่นำมาแต่งพบว่าเป็นตอนที่มีปมขัดแย้งจำนวนมาก มีอนุภาคสนุกสนาน และมีอนุภาคคล้ายคลึงกับอนุภาคในวรรณคดีไทย ในการนำพงศาวดารจีนฉบับแปลไทยมาแต่งเป็นบทละครรำดังกล่าวพบว่ากวีใช้กลวิธีการดัดแปลงทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย การดัดแปลงด้านรูปแบบ ได้แก่ การดัดแปลงสำนวนร้อยแก้วเป็นกลอนบทละครที่มีการบรรจุเพลงร้องและเพลงหน้าพาทย์รวมทั้งกำหนดช่วงที่จะให้เจรจา การดัดแปลงด้านเนื้อหา ได้แก่ การเลือกแต่งเฉพาะตอน การตัดรายละเอียดบางส่วน และการสลับความ การดัดแปลงด้านตัวละคร ได้แก่ การรักษาตัวละครหลักและตัดตัวละครประกอบ การรวมบทบาทของตัวละคร และการสร้างตัวละครให้มีชีวิตชีวา การดัดแปลงด้านกลวิธีการนำเสนอ ได้แก่ การดำเนินเรื่องด้วยบทพรรณนาตามขนบ และการผสมผสานวัฒนธรรมจีนในบทละคร กลวิธีดังกล่าวทำให้บทละครรำกลุ่มนี้มีคุณค่าในฐานะวรรณคดีการแสดง ประกอบด้วยคุณค่าด้านวรรณคดีและคุณค่าด้านการแสดง คุณค่าด้านวรรณคดี ได้แก่ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ เช่น ความไพเราะทั้งในระดับเสียง ระดับคำ และระดับความหมาย และคุณค่าด้านเนื้อหาที่ให้ความรู้และแง่คิดแก่ผู้ชม ส่วนคุณค่าด้านการแสดง บทละครรำกลุ่มนี้แสดงให้เห็นการผสมผสานจารีตกระบวนแสดงแบบเดิมกับแบบใหม่อย่างเหมาะสม จารีตกระบวนแสดงแบบเดิม ได้แก่ การประกอบด้วยการร้อง การรำ และการเจรจาตามขนบ การกำกับเพลงร้องและเพลงหน้าพาทย์ไทย และการแสดงให้เห็นกระบวนรำตามขนบ ส่วนจารีตกระบวนแสดงแบบใหม่ ได้แก่ การเล่นเรื่องที่มาจากพงศาวดารจีน การแสดงลักษณะการออกภาษาจีนในการแสดง และการแสดงให้เห็นกระบวนรำที่ต่างไปจากขนบเดิม การผสมผสานดังกล่าวทำให้บทละครรำกลุ่มนี้ให้รสทางการแสดงแบบละครรำแต่เดิม ขณะเดียวกันก็มีความแปลกใหม่ที่ต่างไปจากละครรำตามขนบด้วย นอกจากนี้ บทละครรำกลุ่มนี้ยังมีองค์ประกอบพร้อมสำหรับนำไปใช้แสดงได้ ได้แก่ มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน มีการดำเนินเรื่องที่ทั้งกระชับและเอื้อต่อการแสดงกระบวนรำ มีการบรรจุเพลงร้องและเพลงหน้าพาทย์ไว้พร้อม มีการกำหนดช่วงเจรจาในบทละคร และมีการใช้ภาษาที่เหมาะกับการแสดง บทละครรำกลุ่มนี้นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของบทละครรำในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการแสดงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีลักษณะของการผสมผสานความเป็นไทยกับความเป็นต่างชาติอย่างลงตัวและเป็นต้นเค้าของรูปแบบการแสดงที่ภายหลังเรียกว่าละครพันทาง