Abstract:
พระสงฆ์เป็นผู้ที่มีสถานภาพพิเศษในสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ จึงมีคำที่ใช้อ้างถึงเป็นพิเศษ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของคำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัย และการเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์และความหมายของคำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ศึกษาและเก็บข้อมูลจากจารึกภาษาไทยสมัยสุโขทัยซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือหรือเผยแพร่ทางเว็บไซต์แล้ว จำนวน 41 หลัก โดยใช้แนวคิดคำอ้างถึงในภาษาไทยและแนวคิดการเปลี่ยนแปลงของภาษา ผลการศึกษาพบว่า คำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยมีการปรากฏใช้ทั้งสิ้น 74 คำ ครอบคลุมถ้อยคำหรือรูปภาษาที่หลากหลาย อ้างถึงบุคคลคนเดียวกัน คือ พระสงฆ์ แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ 1) คำนามสามัญ 2) คำบุรุษสรรพนาม 3) คำนำหน้าชื่อ/ราชทินนาม 4) คำบอกลำดับชั้น และ 5) คำบอกตำแหน่ง ด้านการเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์และความหมายเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันพบว่า คำอ้างถึงพระสงฆ์เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์ คือ การสูญศัพท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) สูญศัพท์โดยสิ้นเชิง และ 2) สูญศัพท์บางส่วน ได้แก่ สูญศัพท์ในบริบทพระสงฆ์ แต่ยังปรากฏใช้ในบริบททั่วไป, สูญศัพท์ในภาษาไทยกรุงเทพฯ แต่ยังปรากฏใช้ในภาษาถิ่น และสูญศัพท์ในบริบททั่วไป แต่ยังปรากฏใช้ในบริบทเฉพาะ ด้านการเปลี่ยนแปลงด้านความหมายพบว่า คำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงความหมาย 5 ลักษณะ ได้แก่ 1) ความหมายแคบเข้า 2) ความหมายกว้างออก 3) ความหมายย้ายที่ 4) ความหมายดีขึ้น และ 5) ความหมายเลวลง การเปลี่ยนแปลงของคำอ้างถึงพระสงฆ์สะท้อนให้เห็นบริบทสังคมพระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัยที่แตกต่างจากปัจจุบัน การใช้คำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมวัฒนธรรมไทย และมีความสัมพันธ์กับลำดับชั้นของพระสงฆ์ พระสงฆ์ที่มีลำดับชั้นต่างกันจะมีการใช้คำอ้างถึงที่แตกต่างกัน บางลำดับชั้นมีคำอ้างถึงใช้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ คำอ้างถึงพระสงฆ์ไทยสมัยสุโขทัยสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรม ความเชื่อ และมโนทัศน์เกี่ยวกับพระสงฆ์เป็นหน่อพระพุทธเจ้า การยกย่องพระสงฆ์ในฐานะครู การยกย่องพระสงฆ์ในฐานะผู้เป็นใหญ่ และวัฒนธรรมการรับรูปแบบการตั้งสมณศักดิ์