Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาพัฒนาการของสถานที่กินอาหารโดยเฉพาะการทานอาหารนอกบ้านตามร้านอาหารของชนชั้นกลางในเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเน้นศึกษาตั้งช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนพร้อมกับการเข้ามาของอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกที่เพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า พัฒนาการของสถานที่กินอาหารนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในเมืองกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่ 5 ที่ได้มีการปฏิรูประบบราชการ ซึ่งทำให้มีสถานที่ราชการชัดเจนและเกิดอาชีพ “ข้าราชการ” ที่ต้องทำงานตามเวลาราชการที่แน่นอน ประกอบกับการเป็นเสมียนในห้างฝรั่งได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเป็นข้าราชการ ปัจจัยทั้งสองนี้ได้กลายเป็นแรงผลักสำคัญให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารมื้อกลางวัน ด้วยเหตุนี้ร้านอาหารสำหรับมื้อกลางวันจึงเริ่มมีมากขึ้นและได้ขยายเวลาให้บริการออกไปยาวนานขึ้นเมื่อมีการเข้ามาของไฟฟ้า ประกอบกับเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติปี พ.ศ. 2464 ก็ได้ทำให้เด็กอายุ 7 – 14 ปี ต้องเข้าโรงเรียนซึ่งนั้นทำให้การทานอาหารนอกบ้านในมื้อเที่ยงกลายเป็นเรื่องที่หลักเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้ข้าราชการเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. และได้เปลี่ยนเป็นเวลา 08.30 – 16.30 น. ในปี พ.ศ. 2502 โดยยังคงเวลาพักเที่ยงดังเดิมคือ 12.00 – 13.00 น. ก็ยิ่งทำให้การรับประทานอาหารนอกบ้านโดยเฉพาะมื้อเที่ยงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก กระทั่งช่วงทศวรรษ 2500 ได้มีการพัฒนาเส้นคมนาคมตลอดจนความเป็นเมืองที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ และเมื่อพิจารณาการรับประทานอาหารนอกบ้านตามร้านอาหารในปัจจุบันแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือเพื่อแสดงสถานะบางอย่างผ่านการบริโภคอาหารก็ตาม