Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ต้องการศึกษาพัฒนาการของกลุ่มทุนระบบรางในไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2398 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก จนถึงปี พ.ศ. 2558 เพื่อวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนที่มีบทบาทนำและลักษณะการสะสมทุน โดยการสร้างกรอบการวิเคราะห์จากงานเขียนทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ประกอบไปด้วย แนวคิดว่าด้วยการนำของรัฐในระบบราง (Theory of State Domination of Railways) แนวคิดม้าสามขา (Tripod Structure) ของ Suehiro Akira และงานของ J. Allen Whitt ซึ่งจะแบ่งกลุ่มทุนระบบรางในแต่ละยุคตามบทบาทการนำออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทุนโดยรัฐ กลุ่มทุนเอกชนภายในประเทศ และกลุ่มทุนต่างชาติ จากการศึกษา พบว่า เริ่มแรกกลุ่มทุนที่มีบทบาทนำในระบบราง คือ กลุ่มทุนต่างชาติซึ่งเป็นข้าราชการที่มีความรู้ในด้านการสำรวจ และ กลุ่มทุนโดยรัฐซึ่งได้ว่าจ้างชาวต่างชาติที่มีความรู้ระบบรางมาเป็นข้าราชการ จนกระทั่งเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจึงทำให้กลุ่มทุนเอกชนหมดบทบาทในระบบรางไป กลุ่มทุนโดยรัฐจึงเป็นผู้ผูกขาดระบบรางและเข้าบริหารกิจการรางแทนกลุ่มทุนเอกชน แต่กลับประสบปัญหาการขาดทุนและการขยายระบบรางที่ล่าช้า เนื่องจากการขาดแคลนเงินในการขยายเส้นทาง ทำให้ต้องกู้เงินจากกลุ่มทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติกลับมามีบทบาทในระบบรางไทยในการกำหนดเงื่อนไขที่มาพร้อมกับเงินกู้ นอกจากนั้นกลุ่มทุนต่างชาติเป็นผู้รับสัมปทานระบบรางในกรุงเทพเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด แต่ปัญหาในการก่อสร้างที่ล่าช้าได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนโดยรัฐกับกลุ่มทุนเอกชนจนก่อสร้างไม่สำเร็จทุกโครงการ ในทางตรงกันข้าม เมื่อรัฐได้ให้สัมปทานระบบรางกับกลุ่มทุนภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนโดยรัฐหรือเอกชน กลับผลักดันโครงการจนสามารถเปิดให้บริการได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า การเปลี่ยนแปลงเส้นทางก่อสร้าง หรือประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 จนบริษัทผู้รับสัมปทานล้มละลายก็ตาม