Abstract:
งานวิจัยเรื่อง วิเคราะห์ทางขับร้องเพลงละครและเพลงหน้าพาทย์บทคอนเสิร์ต ตับนางลอย บ้านพาทยโกศล โดยครูอุษา แสงไพโรจน์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามูลบทที่เกี่ยวข้องและวิธีการขับร้องเพลงละครและเพลงหน้าพาทย์บทคอนเสิร์ต ตับนางลอยบ้านพาทยโกศล โดยครูอุษา แสงไพโรจน์ ผู้วิจัยได้ทำการเลือกศึกษาเพลงจำนวน 8 เพลง ได้แก่ เพลงโอ้ชาตรี เพลงโอ้โลมใน เพลงโอ้ปี่ใน เพลงช้าปี่ใน เพลงโลมนอก เพลงโล้ เพลงเชิดฉิ่ง และเพลงเชิดนอก ซึ่งผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้ ทางขับร้องเพลงบทคอนเสิร์ตตับนางลอยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยนางเจริญ พาทยโกศล เป็นผู้ขับร้องคนแรกและเป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการขับร้องให้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติ-วรรณ และครูอุษา แสงไพโรจน์ ผู้รับช่วงวิธีการขับร้องเป็นรุ่นที่ 3 จากการศึกษาทางขับร้องทั้ง 8 เพลงพบว่าทุกเพลงใช้กลุ่มเสียงทางเพียงออล่างเป็นหลัก มีการกำกับจังหวะที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ การกำกับเพลงที่มีจังหวะควบคุมและการกำกับเพลงที่มีจังหวะลอย พบสังคีตลักษณ์ที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ การขับร้องที่มีดนตรีรับ การขับร้องที่มีดนตรีแทรกกลางคำร้อง และการขับร้องพร้อมกับการบรรเลงดนตรี วิธีการขับร้องที่ถือเป็นเอกลักษณ์ คือ การขับร้องแบบไม่ปั้นคำ เป็นการออกเสียงพยางค์เดี่ยวแบบตรงเสียงไม่มีการปรุงแต่งเสียง และพบกลวิธีการขับร้องทั้งหมด 10 กลวิธี คือ การครั่นเสียง การปั้นคำ การกระทบ-เสียง การผันเสียงลง การผันเสียงขึ้น การใช้หางเสียง การตวัดเสียง การกดเสียง การเหินเสียง และการกลึงเสียง กลวิธีที่ใช้มากที่สุดคือ การครั่นเสียง มีทั้งการครั่นเสียงในเอื้อน การครั่นเสียงในคำร้อง และกลวิธีการขับร้องที่มีเฉพาะเพลง คือ การกลึงเสียง พบในเพลงช้าปี่ในเท่านั้น ส่วนวิธีการขับร้องที่มีช่วงการเอื้อนเป็นทำนองโดยใช้ลมหายใจเดียว คือ เพลงเชิดนอก