Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการศึกษาในช่องปากร่วมกับห้องปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลการคืนกลับแร่ธาตุของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันต่างชนิด บนรอยผุจำลองระยะแรกที่ผิวด้านเรียบของฟัน โดยตัดชิ้นฟันจากด้านประชิดของฟันกรามน้อยจำนวน 24 ซี่ จำนวน 3 ชิ้นต่อซี่ ทำให้เกิดรอยผุจำลองระยะแรกบริเวณผิวเคลือบฟัน แบ่งชิ้นฟันเป็น 3 หน้าต่าง ได้แก่ หน้าต่างทดลอง หน้าต่างรอยผุจำลองระยะแรกก่อนการทดลอง และหน้าต่างควบคุมที่ไม่ได้เคลือบวัสดุ บริเวณหน้าต่างทดลองจะถูกเคลือบด้วยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันเรซินที่มีฟลูออไรด์ (เดลตัน-เอฟเอสพลัส) หรือวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันเรซินที่ไม่มีฟลูออไรด์ (เดลตัน) หรือกลาสไอโอโนเมอร์ (ฟูจิเซเว่น) ติดชิ้นฟันบนแบร็กเกตที่ยึดกับแถบรัดจัดฟัน และสุ่มชิ้นฟันตัวอย่างติดบนฟันกรามแท้บนซี่ที่หนึ่งทั้งสองข้างของอาสาสมัครจำนวน 24 คน เป็นระยะเวลา 28 วัน มีช่วงพักการทดลอง 7 วัน หลังจากนั้นใช้ชิ้นฟันตัวอย่างที่เหลือติดในการทดลองช่วงที่ 2 ก่อนการทดลอง 7 วันจนสิ้นสุดการทดลองอาสาสมัครใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง วัดค่าความหนาแน่นแร่ธาตุทั้ง 3 หน้าต่าง ด้วยเครื่องไมโครคอมพิวเตตโทโมกราฟี ภายหลังการทดลอง พบว่าวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันทั้ง 3 ชนิด เดลตัน เดลตัน-เอฟเอสพลัส และฟูจิเซเว่น มีค่าความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.018 และ p=0.001 และ p=0.000 ตามลำดับ) และเดลตัน-เอฟเอสพลัสกับฟูจิเซเว่นมีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยมากกว่ากลุ่มควบคุมในช่องปากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.003 และ p=0.001 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่เคลือบด้วยฟูจิเซเว่น มีค่าร้อยละการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นแร่ธาตุเฉลี่ยสูงสุด และมีค่ามากกว่าเดลตันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.01) อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มฟูจิเซเว่นกับเดลตัน-เอฟเอสพลัส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.625) จึงสรุปได้ว่า การเคลือบหลุมร่องฟันสามารถเพิ่มการคืนกลับแร่ธาตุให้กับรอยผุได้ โดยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันกลาสไอโอโนเมอร์ สามารถเพิ่มการคืนกลับแร่ธาตุได้ดีกว่าวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดเรซินที่มีและไม่มีฟลูออไรด์ ตามลำดับ