Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ (Interpretative Phenomenological Analysis: IPA) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของวัยรุ่นที่มีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงที่มีภูมิหลังครอบครัวขัดแย้งสูง โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกรายบุคคลแบบกึ่งมีโครงสร้าง (Semi-structured interview) กับผู้ให้ข้อมูลจำนวน 8 ราย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย มีอายุตั้งแต่ 18-22 ปี ที่รายงานว่าตนมีรูปแบบความผูกพันแบบมั่นคงและมีการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองสูงจากการตอบแบบสอบถาม โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าประสบการณ์ของผู้ให้ข้อมูลสามารถสรุปได้เป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักที่ 1 รูปแบบของความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ที่ตนเผชิญ ได้แก่ สาเหตุความขัดแย้งของพ่อแม่ การแสดงออกของพ่อแม่ต่อความขัดแย้ง และการกลับมาเป็นปกติในความสัมพันธ์ของพ่อแม่ ประเด็นหลักที่ 2 ปฏิกิริยาของลูกที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ได้แก่ การรับมือของลูกต่อความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และสิ่งที่ลูกได้เรียนรู้จากความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ และประเด็นหลักที่ 3 การมีทรัพยากรที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล และทรัพยากรที่มั่นคงภายในจิตใจ โดยผู้วิจัยได้สรุปและอภิปรายไว้เกี่ยวกับปัจจัยที่เอื้อต่อการมีความมั่นคงทางจิตใจของวัยรุ่น