Abstract:
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ที่มีต่อแนวโน้มที่จะใช้รูปแบบการเผชิญปัญหาแบบต่าง ๆ โดยมีการประเมินทางปัญญาสามด้าน ได้แก่ การประเมินการคุกคาม ความท้าทาย และทรัพยากรที่จะช่วยในการรับมือกับปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน และมีความเป็นนิรนามของผู้กระทำเป็นตัวแปรกำกับ กลุ่มตัวอย่างคือนิสิตนักศึกษาปริญญาตรี อายุ 18-25 ปี 264 คน ใช้วิธีเก็บข้อมูลตามสะดวก โดยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยอ่านและจินตนาการสถานการณ์การรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ที่มีการจัดกระทำให้มีความถี่และความเป็นนิรนามของผู้กระทำที่แตกต่างกัน และตอบแบบสอบถามการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้าน และการเผชิญปัญหาการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ผลจากการวิเคราะห์เส้นทาง พบว่าอิทธิพลทางอ้อมของความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์ ที่ส่งผ่านตัวแปรการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้านไปยังการเผชิญปัญหาทั้งแบบเข้าหาและแบบหลีกเลี่ยงนั้น ไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่อิทธิพลของความเป็นนิรนามที่กำกับความสัมพันธ์ระหว่างความถี่และการประเมินทางปัญญาทั้งสามด้านก็ไม่ถึงระดับนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์โมเดลทางเลือกโดยใช้การรับรู้ความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์เป็นตัวแปรทำนายแทนเงื่อนไขการจัดกระทำ พบอิทธิพลส่งผ่านที่มีนัยสำคัญทางสถิติของการประเมินการคุกคาม ที่ส่งผ่านความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความถี่ของการรังแกในพื้นที่ไซเบอร์และการเผชิญปัญหาแบบเข้าหาและแบบหลีกเลี่ยง โดยเมื่อบุคคลรับรู้ว่าเหตุการณ์มีความถี่มากจะยิ่งรู้สึกถูกคุกคาม และมีแนวโน้มเผชิญปัญหาแบบเข้าหามากขึ้น และหลีกเลี่ยงน้อยลง นอกจากนี้ พบว่าความท้าทายสามารถทำนายการเผชิญปัญหาแบบหลีกเลี่ยง ส่วนทรัพยากรทำนายการเผชิญปัญหาแบบเข้าหาได้ การศึกษาต่อไปจึงควรศึกษาปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการประเมินทางปัญญาเพิ่มเติม