Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจในระยะแรกของพ่อแม่หลังจากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัยครั้งนี้ คือ พ่อแม่ที่ลูกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษจากกุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จำนวน 7 ราย คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจนข้อมูลอิ่มตัว และวิเคราะห์ข้อมูลตามแนวการวิจัยคุณภาพเชิงปรากฏการณ์วิทยา ผลการวิจัยพบ 3 ประเด็นหลักคือ (1) ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการรับการวินิจฉัยและการรักษาทางการแพทย์ ได้แก่ การมีปัญหาในการเลี้ยงดูลูก การสังเกตและการรับรู้ความผิดปกติของบุคคลรอบข้าง และทรัพยากรในการรักษา (2) การรับรู้ผลการวินิจฉัย ได้แก่ ข้อมูลที่ได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์ ความไม่อยากยอมรับผลการวินิจฉัย และการยอมรับผลการวินิจฉัยและความพร้อมที่จะดูแลลูก (3) กระบวนการปรับตัวและการก้าวข้ามผ่านอุปสรรค ได้แก่ ความยากลำบากของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ กำลังใจจากครอบครัว การสนับสนุนจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แรงบันดาลใจจากพ่อแม่คนอื่น และความมุ่งมั่นตั้งใจในการดูแลลูก