Abstract:
ศาสตร์จิตวิทยาศึกษาแนวคิดเรื่องกรอบคิดแบบเติบโตมานานกว่า 30 ปี แต่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดและสุขภาวะ การวิจัยครั้งนี้ต้องการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมด้วยการวิเคราะห์อภิมาน เพื่อทดสอบขนาดอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดแบบต่าง ๆ กับสุขภาวะ และทดสอบว่าขนาดอิทธิพลเหล่านั้นถูกกำกับด้วยตัวแปรด้านของกรอบคิดและช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่าง ทำให้ขนาดอิทธิพลของความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดแบบต่าง ๆ กับสุขภาวะมีขนาดแตกต่างกันหรือไม่ ผลการวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยจำนวน 21 เรื่อง กลุ่มตัวอย่างจำนวน 31 กลุ่ม และค่าขนาดอิทธิพลที่ถูกแปลงให้อยู่ในรูปค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์จำนวน 64 ค่า พบว่ากรอบคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับสุขภาวะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แต่มีขนาดอิทธิพลในระดับต่ำ (r = .134, p < .001) อย่างไรก็ดี ผลการทดสอบตัวแปรกำกับไม่พบว่าด้านของกรอบคิด และช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างมีอิทธิพลกำกับความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสอง จึงไม่สนับสนุนสมมติฐานที่ตั้งไว้ นอกจากนี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ในขณะที่งานวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ส่วนใหญ่พบความสัมพันธ์ระหว่างกรอบคิดกับสุขภาวะอย่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่งานวิจัยที่จัดกระทำกรอบคิดไม่พบว่ามีอิทธิพลทำให้สุขภาวะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปงานวิเคราะห์อภิมานนี้บ่งชี้ว่าบุคคลที่เชื่อว่าคุณลักษณะต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาวะที่ดีมากกว่าบุคคลที่มองว่าคุณลักษณะต่าง ๆ เป็นสิ่งตายตัว แต่ยังไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สรุปความเป็นสาเหตุได้ชัดเจนว่ากรอบคิดทำให้เกิดสุขภาวะโดยตรงหรือโดยทันที