Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เกาะพะงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปจนถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เกาะพะงัน จากผลการศึกษาพบว่าตัวแสดงสำคัญในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่เกาะพะงัน ได้แก่ เกษตรกร ที่จะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำ (Leader) ในการขับเคลื่อน ขณะที่ภาครัฐมีบทบาทเป็นหน่วยที่คอยให้การสนับสนุน (Supporter) ในส่วนของกลยุทธ์การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เครื่องมือเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องและมาตรการในการดำเนินการสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะแรก (ภายในระยะเวลา 3 ปี) เป็นระยะที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้ทำเกษตรอินทรีย์ มีการวางแผนการผลิตและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในกลุ่ม การอุดช่องว่างของความต้องการด้านต่าง ๆ ของเกษตรกรโดยการแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก สร้างโอกาสและเวทีในการพบปะกันของเกษตรกรกับผู้ประกอบการและการส่งเสริมการเกษตรแบบ CSA โดยการใช้ระบบการรับรองมาตรฐานแบบ PGS และการสร้างค่านิยมวิถีเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ในระยะกลาง (ภายในระยะเวลา 3-5 ปี) เป็นระยะที่เน้นการส่งเสริมโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นฐานในแนวทาง “Organic Tourism” ร่วมกับการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่วิถีเกษตรอินทรีย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการกับเกษตรกร และการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และระยะสุดท้าย (ภายในระยะเวลา 5-20 ปี) จะมุ่งเน้นการเข้ามามีบทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในระดับใหญ่และยกระดับการทำเกษตรอินทรีย์ให้เป็นในรูปแบบของการทำธุรกิจ ผลักดันผลผลิตสินค้าอินทรีย์ออกสู่ตลาดระดับสากล กลยุทธ์การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีทั้ง 3 ระยะเป็นแนวทางที่กลั่นกรองจากการวิจัยปัญหา ความเป็นไปได้ แนวทางและมาตรการด้านนโยบายต่างๆ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนสามารถนำกลยุทธ์ เครื่องมือเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องและมาตรการในการดำเนินการดังกล่าวเข้าไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการส่งเสริมนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีต่อไปได้