Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การสร้างสรรค์นาฏยศิลป์สะท้อนความกดดันที่นำไปสู่การเป็นฆาตกรหญิง” เป็นงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหารูปแบบและแนวความคิดหลังจากการสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏยศิลป์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวชีวิตของผู้ต้องขังหญิง 3 คนผู้ได้รับความกดดันจากครอบครัวที่นำไปสู่การเป็นฆาตกร โดยผู้วิจัยนำแนวความคิดเกี่ยวกับนาฏยศิลป์และการละครมาใช้เป็นหลักในการทำผลงานสร้างสรรค์ทางนาฏยศิลป์ชิ้นนี้ มีการรวบรวมข้อมูลโดย การสำรวจข้อมูลเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการทดลองสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ เพื่อนำเสนอผลงานนี้สู่สาธารณชน จากนั้นจึงสรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของการแสดงที่สามารถจำแนกตามองค์ประกอบของการแสดงได้ 8 ประการ ได้แก่ 1) บทการแสดง เป็นบทที่ได้มาจากชีวิตจริงของผู้หญิง 3 คนนำมาเรียบเรียงใหม่โดยเรียงลำดับจากเรื่องราวที่ได้รับความกดดันน้อยที่สุดไปถึงมากที่สุด 2) นักแสดง มีคุณสมบัติทางด้านการแสดงออกทางอารมณ์ และด้านการเคลื่อนไหวเพื่อการแสดง 3) ลีลา ใช้ลีลาท่าทางที่เป็นการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ และมีลีลาการเคลื่อนไหวที่สื่อถึงการเล่าเรื่อง 4) เครื่องแต่งกาย ใช้การแต่งกายที่มาจากบุคลิกของตัวละครในเรื่องนั้น ๆ 5) ดนตรีและเสียงประกอบการแสดง มาจากร่างกายนักแสดงประกอบกับเสียงของเครื่องดนตรีคลาริเน็ต และใช้ดนตรีเสียงสังเคราะห์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 6) อุปกรณ์ประกอบการแสดงเป็นสิ่งของที่ใช้เป็นกิจวัตรประจำวันในครัวเรือน 7) การออกแบบพื้นที่ ใช้พื้นที่ที่มีขอบเขตจำกัดให้มีความรู้สึกไม่เป็นอิสระเหมือนโดนกักขังไว้ 8) การออกแบบแสง ให้ความรู้สึกที่แสดงถึงความรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังได้แนวความคิดหลังจากการสร้างสรรค์ผลงานแล้วทั้งสิ้น 8 ประเด็น ดังนี้ 1) แนวคิดเกี่ยวกับนาฏยศิลป์และการละคร 2) แนวคิดทฤษฎีละครไมม์ 3) แนวคิดนาฏยศิลป์หลังสมัยใหม่ 4) แนวคิดองค์ประกอบทางด้านทัศนศิลป์ 5) แนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง 6) แนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสาร 7) แนวคิดเกี่ยวกับการให้เกียรติคู่ครอง 8) แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมการนอกใจ ผลการวิจัยเกี่ยวกับงานสร้างสรรค์ที่ได้ทั้งหมดนี้มีคุณค่าทางการวิจัยที่คนรุ่นหลังสามารถนำไปศึกษาต่อยอดได้อีกมากมาย และผลการวิจัยนี้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการวิจัยทุกประการ