Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยมีแนวคิดที่ประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) เพื่อประเมินปริมาณคาร์บอนกักเก็บของป่าชุมชนบ้านบุตาต้อง ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้ข้อมูลกลุ่มจุดสามมิติ (Point Could) ที่ได้จากการประมวลผลของภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองความสูงสิ่งปกคลุมพื้นผิวเชิงเลข (Digital Surface Model : DSM) และแบบจำลองความสูงภูมิประเทศเชิงเลข (Digital Elevation Model :DEM) จากนั้นทำการหาความสูงของต้นไม้โดยการหาค่าต่างระหว่างของแบบจำลองดังกล่าว นอกจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการกำหนดแปลงตัวอย่างถาวรขนาด 40 × 40 เมตร จำนวน 10 แปลง เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกและความสูงต้นไม้ เพื่อใช้ในการประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ ในการหามวลชีวภาพเหนือพื้นดินผู้วิจัยใช้สมการแอลโมเมตรี (allometric equations) ประเภทป่าเต็งรัง ผลการวิจัยพบว่าความสูงที่ได้จากข้อมูลอากาศยานไร้คนขับมีความสัมพันธ์กับภาคสนามโดยมีค่า R2 อยู่ที่ 0.715-0.898 และมีความคลาดเคลื่อนของความสูงต้นไม้อยู่ที่ 0.50-0.66 เมตร ปริมาณคาร์บอนทั้งพื้นที่ศึกษามี 1.54 ตัน/ไร่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณคาร์บอนกักเก็บในแปลงตัวอย่างพบว่ามีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ร้อยละ 13-59 ซึ่งความคลาดเคลื่อนดังกล่าวมาจากความคลาดเคลื่อนในการประมาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอกจากข้อมูลความสูงต้นไม้ที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับเนื่องจากความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีความชัดเจน จากนั้นผู้วิจัยได้ทำการหาขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมในการหาปริมาณคาร์บอนกักเก็บพบว่าขนาดพื้นที่มากกว่า 25×25 เมตรมีความเหมาะสมสำหรับกรหาปริมาณคาร์บอนกักเก็บในพื้นที่ศึกษา