Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อของแอพพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม ได้แก่ (1) การรับรู้ความง่าย (2) การรับรู้ประโยชน์ (3) การรับรู้ความสนุกสนาน (4) การรู้สึกจดจ่อ (5) การมีปฏิสัมพันธ์ โดยมีตัวแปรกำกับคือ เจเนอเรชัน และเพศ เพื่อให้ได้ผลที่ครอบคลุมและหลากหลายงาน วิจัยนี้ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา ออกเป็น เพศชายและเพศหญิง และ แบ่งตามเจเนอเรชันซึ่งได้แก่ เจเนอเรชัน X, เจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน Z งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ โมไบล์แอพพลิเคชันเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม ข้อมูลเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 240 คน ที่ได้ทดลองใช้แอพพลิเคชันที่ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริมและตอบแบบสอบถามที่ผู้วิจัยจัดเตรียมไว้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าปัจจัยด้านการรับรู้ความง่ายในการใช้งาน การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้ความสนุกสนาน การรู้สึกจดจ่อและการมีปฏิสัมพันธ์มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อ โดยในภาพรวมพบว่า การรับรู้ความง่ายมีความสัมพันธ์มากที่สุดกับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำ การรับรู้ประโยชน์ มีความสัมพันธ์มากที่สุดกับความตั้งใจในการบอกต่อ ในกรณีที่เพศและเจเนอเรชันของผู้ใช้ต่างกันพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อเช่นกัน สำหรับเพศชาย พบว่าการรับรู้ความง่ายมีความสัมพันธ์กับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำมากที่สุด และการมีปฏิสัมพันธ์มีความสัมพันธ์กับความตั้งใจในการบอกต่อมากที่สุด ในกรณีเพศหญิงพบว่า ปัจจัยด้านการรับรู้ประโยชน์มีความสัมพันธ์มากที่สุดทั้งกับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อ ในแง่ของเจเนอเรชันผู้ใช้พบว่า เจเนอเรชัน X และเจเนอเรชัน Y การรับรู้ความสนุกสนานมีความสัมพันธ์กับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อมากที่สุด เจเนอเรชัน Z พบว่า ปัจจัยด้านการรับรู้ความง่ายมีความสัมพันธ์กับความตั้งใจในการกลับมาใช้ซ้ำและความตั้งใจในการบอกต่อมากที่สุด