Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อหนี้ค้างชำระของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคจากธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่ประกอบธุรกิจแต่มิใช่สถาบันการเงินในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2546 ถึง 2559 ที่มีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นจนอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยสมมติฐานหลักของงานวิจัยนี้คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศและกลุ่มตัวแปรผลการดำเนินงานของกิจการในอดีตสะท้อนถึงพฤติกรรมของกิจการและเป็นปัจจัยสำคัญต่อปัญหาหนี้ค้างชำระในปัจจุบัน ดังนั้นจึงได้ใช้วิธี Difference GMM ในการศึกษา จากผลการศึกษาพบว่าหนี้ค้างชำระในอดีตของสินเชื่อทุกประเภทนั้นส่งผลต่อหนี้ค้างชำระในปัจจุบันสะท้อนถึงพฤติกรรม Moral Hazard ของกิจการ โดยปัญหาหนี้ค้างชำระด้อยคุณภาพที่มีการค้างชำระมากกว่า 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อทุกประเภทเกิดจากการที่กิจการมีความพร้อมเพียงพอสำหรับการปล่อยสินเชื่อ (Ability to Loan) ทำให้อัตราการเติบโตของปริมาณเงินให้สินเชื่อนั้นเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่านโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกในปี พ.ศ.2554 ที่หวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชากรนั้นส่งผลให้หนี้ค้างชำระด้อยคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ