Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง การรำหน้าพาทย์เพลงตระโขนพระ ผู้วิจัยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ประวัติความเป็นมากระบวนท่ารำตามหลักสูตรและการนำความรู้ไปใช้ ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ ตำรา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การฝึกปฏิบัติจากผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า หน้าพาทย์เพลงตระ หมายถึง เพลงที่ใช้ประกอบกิริยาของตัวละครที่แสดงถึงการตระเตรียม การใช้อิทธิฤทธิ์ การบริกรรมพิธี มีหลักฐานปรากฏเพลงหน้าพาทย์นี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ พบว่ามี 8 เพลง ได้แก่ ตระนิมิต ตระนอน ตระบรรทมไพร ตระนารายณ์ ตระเชิญ ตระสันนิบาต ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตระบองกัน ผู้ที่รำเพลงหน้าพาทย์ต้องเป็นผู้ที่มีทักษะในการรำเป็นอย่างดี เพราะต้องเข้าใจความหมายของเพลงและฟังจังหวะ ทำนองเพลงได้ ตลอดจนมีความจำกระบวนท่ารำได้อย่างดี การรำหน้าพาทย์ประกอบด้วยการใช้อุปกรณ์และไม่ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง มีเพลงตระนารายณ์ เพลงเดียวที่ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง ได้แก่ คทา จักร ส่วนเพลงหน้าพาทย์อีก 7 เพลงไม่ได้ใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง การรำหน้าพาทย์เพลงตระมีทั้งนั่งรำและยืนรำ นั่งรำได้แก่ ตระนอน ตระบรรทมไพร ตระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตระเชิญ ตระสันนิบาต ยืนรำได้แก่ ตระนิมิต ตระบองกัน ตระนารายณ์ เพลงหน้าพาทย์เพลงตระทั้ง 8 เพลง ผู้วิจัยพบว่า มีจังหวะในการรำทั้งหมด 32 จังหวะ ที่เท่ากัน กลวิธีในการรำมีเยื้องตัว และย้อนตัว การรำหน้าพาทย์เพลงตระมีทั้งรำประกอบบทร้อง และรำประกอบทำนองเพลง กระบวนท่ารำพบว่ามี 14 ท่ารำได้แก่ ท่าเทพประนม ท่าปฐม ท่าสอดสร้อยมาลา ท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าบัวชูฝัก ท่านารายณ์ขว้างจักร ท่ากินนรรำ ท่าเครือวัลย์พันไม้ ท่ากินนรฟ้อนโอ่ ท่าบัวชูฝักส่งจีบหลัง ท่าวงบน วงกลาง ท่ากรบน ท่ากรล่าง ท่านอน ซึ่งเป็นกระบวนท่ารำที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามแบบแผน สืบทอดกันต่อมาที่เรียกว่า รำเพลงครู การนำหน้าพาทย์เพลงตระไปใช้สำหรับการแสดง ต้องนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของการแสดง และสอดคล้องตามความหมายของเพลงหน้าพาทย์ ในปัจจุบันการรำหน้าพาทย์เพลงตระ ได้สืบทอดในหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นวิชาบังคับของผู้เรียนนาฏยศิลป์ โดยเฉพาะโขนพระ ต้องรำหมวดหน้าพาทย์เพลงตระทั้ง 8 เพลงนี้ได้ จึงจะสามารถเป็นผู้แสดงในบทบาทตัวละครที่สำคัญได้ดี และมีแนวโน้มว่ากระบวนท่ารำนี้ยังคงสืบทอดต่อไปในอนาคต