Abstract:
จากการสำรวจความหลากหลายของชันโรงที่เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบชันโรงชนิด Tetragonula pagdeni เพียงชนิดเดียว และมีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อการนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบในโพรโพลิส จึงได้เก็บยางของต้นไม้ที่ให้ยางที่อยู่ในบริเวณที่มีชันโรงชนิดนี้มาทำการวิเคราะห์องค์ประกอบในยางไม้แทน ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ นอกจากนี้ ผลการศึกษาความหลากหลายของชันโรงในพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี พบชันโรง 4 ชนิด ได้แก่ Tetrigona apicalis, Tetragonilla collina, Lepidotrigona terminate และ Homotrigona fimbriata การวิเคราะห์องค์ประกอบในโพรโพลิสของ T. apicalis, T. collina และ T. terminate ด้วย GC-MS พบว่าสารสกัดจากปากทางเข้ารังชันโรงชนิด T. apicalis ทั้ง 3 รังมีจำนวนชนิดองค์ประกอบหลักที่ใกล้เคียงกัน อยู่ในช่วง 16-21 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบในกลุ่มของ sesquiterpenes ซึ่งมี aristolone เป็นองค์ประกอบหลักที่มีปริมาณมากที่สุด ส่วนสารสกัดจากปากทางเข้ารังของ T. collina ทั้ง 3 รัง มีจำนวนองค์ประกอบหลักที่ใกล้เคียงกัน อยู่ในช่วง 20-21 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารประกอบในกลุ่มของ sesquiterpenes และมี aristolone เป็นองค์ประกอบหลักที่มีปริมาณมากที่สุด เช่นเดียวกับสารสกัดจากปากทางเข้ารัง T. apicalis ในขณะที่สารสกัดจากปากทางเข้ารังชันโรง L. terminate มีองค์ประกอบหลัก 20 ชนิด จัดจำแนกได้เป็น 5 กลุ่ม โดยพบว่า 13,14,15,16-tetranorlabd-(8(17)-en-12-yl methanesulfonate มีปริมาณมากที่สุด